คุณเคยออกเดินทางโดยไม่มีเป้าหมายไหม? นายศุภชาติ​ คล่องเชิงสาร หรือน้องกล้า ที่ออกเดินทางไปใช้ชีวิตที่ประเทศอินเดียกับโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของIYF เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ถึง เดือนพฤษภาคม 2560

คนที่ไม่มีเป้าหมาย

              ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ กล้าไม่เคยรู้จักไอวายเอฟมาก่อนด้วยซ้ำ กระทั่งวันหนึ่งได้เจอกับ พี่แป้งหอม ลูกพี่ลูกน้องเดินทางกลับมาจากอเมริกาแล้วมาเล่าประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมโครงการให้ฟัง แทนที่กล้าจะสนใจ กลับเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ที่สนใจโครงการนี้มากกว่า หลังจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็เดินทางมาส่งกล้าที่ศูนย์ไอวายเอฟ เดิมทีกล้าเป็นเด็กที่ไม่ค่อยวางแผนหรือมีเป้าหมายอะไรอยู่แล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อคุณพ่อ คุณแม่บอกให้มา กล้าก็มา  แบบยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองมาที่นี่ทำไม รู้ตัวอีกทีก็กำลังช่วยเพื่อนๆ ทำความสะอาดอาคารศูนย์อยู่เสียแล้ว

              ในครั้งแรก กล้าเลือกที่จะเดินทางไปอเมริกาเหมือนกับพี่แป้งหอม เพราะอยากฝึกใช้ภาษาอังกฤษบ้าง น่าเสียดายที่ขอวีซ่าไม่ผ่าน แต่นั่นถือเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้ ที่กล้าเริ่มมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง คือ แม้ว่าจะไม่ได้ไปอเมริกา ก็อยากออกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศในฐานะอาสาสมัครสักครั้ง กล้าจึงตัดสินใจเลือกไปประเทศอินเดียแทน เพราะคนที่นั่นใช้ภาษาอังกฤษ และมีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่ต่างจากประเทศไทย จึงคิดว่าหากพาตัวเองเข้าไปอยู่จุดนั้นน่าจะรู้สึกลำบากแน่ๆ แต่ความลำบากนี่แหละที่จะสอนให้เราเติบโต เรียกได้ว่า พอได้เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ก็ขอไปแบบลุยๆ เลยแล้วกัน

              และการออกเดินทางครั้งนี้ก็ได้ลุยๆ สมใจ เพราะกล้าต้องเดินทางออกจากประเทศไทยคนเดียว จากเด็กที่ไม่เคยตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง ก็ต้องพึ่งตัวเองตั้งแต่วันแรกเสียแล้ว กล้าต้องไปประจำอยู่ที่เมืองนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แต่ต้องไปรอต่อเครื่องบินที่เมืองโกลกาตานานถึง 12 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้คุยกับใคร และไม่กล้าเดินไปไหน พอหิวข้าวก็ต้องเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกมาขยำกินแบบดิบๆ พอจะยกถุงขึ้นกินก็กลัวว่าคนอื่นจะมองแปลกๆ หรือเปล่า เพราะยังไม่รู้วัฒนธรรมของคนอินเดีย รู้เพียงว่าที่นั่นใช้มือหยิบอาหาร กล้าจึงต้องหยิบบะหมี่ที่ขยำไว้มากินทีละนิด เป็นการกินที่ทุลักทุเลมากทีเดียว

โถส้วมที่ไม่มีฝารองนั่ง

              การผจญภัยในอินเดียนั้นพึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงศูนย์ กล้าก็มีเรื่องให้ประหลาดใจอีก แม้ว่าจะเตรียมใจไว้แล้วว่าทุกอย่างจะแตกต่างจากที่ไทย แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้ตกใจจนไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี นั่นก็คือ ‘โถส้วม’ นั่นเอง เพราะโถส้วมที่นั่นกว้างมาก แถมยังไม่มีฝารองนั่ง ทำให้ตอนทำธุระต้องเกร็งตัวไว้ เพราะกลัวว่าจะเสียหลักพลาดท่าตกลงไปในโถแทนที่จะได้ทำธุระส่วนตัว แต่เมื่อต้องใช้ทุกวันก็เริ่มรู้สึกชินไปเอง

อุปสรรคของความเก้งก้าง

              หลังอยู่ที่นิวเดลีได้สักพัก กล้าก็เดินทางไปที่เมืองชานดิการ์ เพื่อจัดค่ายเยาวชนเป็นครั้งแรก โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 50 คน และมีสตาฟเพียงแค่ 10 คนเท่านั้น แต่ละคนจึงมีหลายหน้าที่ที่ต้องทำ แม้แต่กล้าเองก็ต้องทำเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ออกไปประชาสัมพันธ์ค่ายในมหาวิทยาลัย จัดเตรียมสถานที่ ไปจนถึงจัดการแสดง ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดสำหรับกล้าก็คือ การแสดงเต้นวัฒนธรรม เพราะหลังจากออกไปประชาสัมพันธ์มาทั้งวันแล้วก็ต้องกลับมาซ้อมเต้นตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืนทุกวัน ในครั้งแรกกล้าคิดว่าน่าจะเต้นได้ไม่ยาก เพราะมีใจที่อยากเต้นอยู่แล้ว แต่เมื่อเริ่มซ้อมจริงจังกลับรู้สึกว่าการเต้นนั้นยากเกินไป เพราะต้องจัดระเบียบร่างกายด้วย แต่เมื่อมองมาที่ตัวเองกลับดูเก้งก้าง ตอนที่พยายามเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลงเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้เสียที “เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักความกลัวครับ กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ เพราะจำท่าเต้นไม่ได้ด้วย ตอนที่เต้นก็รู้สึกว่าเต้นได้ไม่ดี ผมเคยเชื่อมาตลอดว่าผมสามารถทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ ถ้าผมยังทำไม่ได้ก็อาจเป็นเพราะผมยังพยายามไม่มากพอ แต่ครั้งนี้ผมได้เห็นชัดเจนเลยว่า คนเรามีข้อจำกัด เรามีสิ่งที่ทำไม่ได้ และต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นครับ” แม้ว่าจะเต้นไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ แต่กล้าก็ได้ขึ้นแสดงบนเวที โดยครั้งนี้มีสมาชิกจากศูนย์นิวเดลีมาเข้าร่วมค่ายและชมการแสดงด้วย หลังจากจบค่ายกล้ายังคิดถึงการแสดงบนเวทีและนึกเสียดายที่เต้นได้ไม่ดีอย่างที่ใจคิด แต่เพื่อนๆ กลับชื่นชม และเห็นว่าเป็นการแสดงที่สวยงาม เพราะพวกเขาไม่ได้มองแค่ตอนอยู่บนเวทีเท่านั้น แต่เขามองเห็นความพยายามของกล้าที่ซ้อมอย่างหนักเพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุดด้วย

                  เมื่อเข้าใกล้เทศกาลคริสต์มาส เหล่าอาสาสมัครก็ได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจัดการแสดงละครเวที ‘คริสต์มาส คันทาทา’ เป็นละครเวทีแบบมิวสิคัลที่มีผู้เข้าชมถึง 2,000 คน  โดยกล้าได้รับบทเป็นโยเซฟ ตัวละครเอกของเรื่องกำเนิดพระเยซู แต่การแสดงละครไม่ใช่แค่การจำบทพูดและออกท่าทางเท่านั้น แต่ต้องแสดงสีหน้าที่สื่ออารมณ์ไปถึงคนดูด้วย ซึ่งกล้าไม่สามารถทำได้ พอถึงบทที่ต้องร้องไห้ด้วยความเสียใจ กล้าก็ทำหน้าเหมือนเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายร่างกาย พอถึงบทที่ต้องยิ้มดีใจ รอยยิ้มที่ออกมาก็ดูฝืนๆ ไม่เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ กล้าก็พึ่งรู้ตัวจากการแสดงความคิดเห็นของเพื่อนว่าตอนที่วิ่งนั้น กล้าวิ่งเหมือนกับเด็กที่ตัวเก้งก้าง จึงต้องแบ่งเวลามาซ้อมวิ่งให้เหมือนคนทั่วไปถึง 1 สัปดาห์  พวกเขาทั้งซ้อมละครและออกไปประชาสัมพันธ์การแสดงกันทุกวัน จนกระทั่ง 1 สัปดาห์ก่อนการแสดงจริง อาจารย์ผู้ดูแลก็ให้หาคนใหม่มารับบทโยเซฟแทน กล้ารู้สึกไม่เข้าใจและเสียใจที่ตนพยายามซ้อมมาอย่างดี ทุ่มเทเต็มที่ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับบทนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เห็นว่าตัวเองมีข้อจำกัด กล้าเริ่มสังเกตตัวเองว่า แท้จริงแล้วเขาเองก็เป็นคนที่คาดหวังกับตัวเองมากเกินไป แม้ว่าจะใช้ความพยามเต็มที่ แต่ถ้าผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ใจต้องการก็รู้สึกเสียใจ  “วันนั้นผมเสียใจมากที่รู้ว่าจะไม่ได้แสดง จนไม่มีจิตใจอยากจะทำอะไร ก็เลยโทรหาคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็ร้องไห้ออกมา ได้พูดถึงเรื่องราวในจิตใจว่าจริงๆ แล้วอยากจะทำให้ได้ทุกอย่าง อยากเก่งทุกด้าน อยากเป็นลูกที่พ่อกับแม่ภูมิใจ แต่ตอนนี้ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง ตอนนั้นแม่ตอบกลับมาว่า ทำไมคิดอย่างนั้น พ่อแม่ไม่เคยคาดหวังว่าลูกต้องเก่ง ต้องดี แค่ลูกมีความสุขก็พอแล้ว ตอนนั้นผมถึงได้เห็นว่า ผมเป็นคนที่คาดหวังกับตัวเองมากเกินไป อยากจะทำให้คนรอบข้างภูมิใจ แทนที่จะเป็นแรงผลักดัน มันกลับกลายเป็นแรงกดดันต่อตัวเองมากกว่า พอเห็นชัดเจนแบบนี้มันก็ทิ้งความรู้สึกเสียใจไปได้ แล้วก็เลิกกดดันตัวเองด้วยครับ”

ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเอก ก็มีความสุขได้

              เมื่อไม่ได้รับบทตัวเอก กล้าก็ได้เล่นเป็นตัวประกอบที่ออกเพียงฉากเดียวเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับรู้สึกมีความสุขได้ เพราะได้ทิ้งความรู้สึกที่คาดหวังในตัวเองไปแล้ว  และได้รับมุมมองใหม่ว่าตัวละครทุกตัวก็มีส่วนวำคัญในการดำเนินเรื่องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเล่นเป็นตัวเอกเท่านั้น แต่เป็นเพราะคนที่มารับบทโยเซฟแทนซ้อมไม่ทัน กล้าจึงได้กลับมารับบทโยเซฟเหมือนเดิม เมื่อได้ทิ้งจิตใจเดิมไปแล้ว การแสดงครั้งนี้ของกล้าจึงรู้สึกเป็นอิสระและมีความสุขกับการแสดงด้วย

              ช่วงเวลา 10 เดือนในอินเดียค่อยๆ หล่อหลอมให้กล้าเติบโตและเข้มแข็งขึ้นทีละนิดอย่างไม่รู้ตัว จากเด็กที่ไม่มีเป้าหมาย กลายเป็นคนมุ่งมั่นในการทำทุกอย่าง จากจิตใจที่คาดหวังและกดดันตัวเอง เป็นจิตใจที่มีอิสระและรอคอยความสำเร็จได้ กล้ายังคงเป็นคนที่มีความพยายามในการทำทุกอย่างให้ออกมาดีเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เขาไม่รู้สึกกดดันตัวเองมากเกินไป และมีความสุขกับผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ว่าจะออกมาดีหรือไม่ดีเท่าที่คาดหวังก็ตาม เพราะระหว่างทางที่ได้พยายามมา ก็เป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้ได้มากมายแล้ว