‘ปิ๊ง’ไปแทนซาเนีย ยอมรับก่อนแล้วจะเปลี่ยนแปลง
“ตอนแรกผมคิดว่างานอาสาสมัครในแอฟริกามีแต่เรื่องสนุก ได้ทำอะไรเท่ๆ อย่างออกไปช่วยเหลือเด็ก ไปเที่ยว ไปถ่ายรูปสวยๆ อยู่ดีกินดี มีที่พัก มีอาหารให้ แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่เลย เราต้องอยู่เหมือนคนที่นั่นเลยครับ ค่อนข้างลำบาก บางครั้งไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือแม้กระทั่งไม่มีอาหาร แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้ได้เรียนรู้ และกลายเป็นคนที่มีคำขอบคุณออกมาจากใจได้จริงๆ” เรื่องเล่าจากน้องปิ๊ง หรือนายภัทรพล ศุภวิรัชบัญชา บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ วิชาเอกนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ที่ตัดสินใจออกเดินทางไกลไปถึงประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ในฐานะอาสาสมัคร กับโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) เป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน ตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2561 ถึง เดือนมกราคม 2563
เด็กสมาธิสั้นและมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์
ย้อนกลับไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ปิ๊งเป็นเด็กสมาธิสั้นและมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ จึงทำให้มีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับเพื่อนบ่อยๆ ความจริงแล้วปิ๊งไม่ได้อยากถูกมองว่าเป็นเด็กมีปัญหาเลย เขาเองอยากเป็นที่ยอมรับของสังคมมาโดยตลอด แต่ถึงแม้จะพยายามปรับปรุงตัวเองเรื่อยๆ ทั้งปรึกษาแพทย์ และปรับปรุงพฤติกรรมด้วยตนเอง แต่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ จนถึงจุดที่รู้สึกว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่รู้จะพยายามแก้ไขไปเพื่ออะไร ปิ๊งจึงเปลี่ยนความคิด จากคนที่พยายามปรับปรุงตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกับคนอื่น กลายเป็นคนที่ไม่สนใจคนรอบข้าง และใช้ชีวิตเสเพลเต็มที่ เพราะคิดว่าอะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด ฉันมีแค่ชีวิตเดียว อยากทำอะไรก็จะทำเลย
ในช่วงปีสุดท้ายก่อนเรียนจบ เป็นช่วงที่ปิ๊งไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตไปทางไหนต่อ รู้สึกหมดไฟ ไร้ความฝัน ไร้เป้าหมายในการใช้ชีวิต จนได้รู้จักกับโครงการนี้ ปิ๊งใช้เวลาหาข้อมูลอยู่นานก่อนตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยคิดแค่ว่าต้องการไปต่างประเทศเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ และอยากเป็นที่ยอมรับจากคนอื่นว่าอย่างน้อยเขาก็เป็นคนที่เคยไปต่างประเทศมาแล้ว หรืออาจจะได้รับการเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างรุ่นพี่คนอื่นๆ
หลังจากเข้าร่วมโปรแกรมฝึกภาษาที่มูลนิธิในประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน ปิ๊งก็ฉายเดี่ยว ออกเดินทางไปประเทศแทนซาเนีย โดยได้ประจำอยู่ที่ศูนย์ไอวายเอฟในเมืองอรุชา (Arusha) พร้อมกับเพื่อนอาสาสมัครอีก 5 คน จากประเทศเกาหลีใต้ จีน และกัมพูชา ภาพอาสาสมัครแบบที่คิดไว้กับความเป็นจริงนั้นต่างกันลิบลับ เพราะกิจกรรมแรกที่ทำไม่ใช่การออกไปช่วยเหลือเด็กๆ หรือท่องเที่ยว แต่เป็นการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ด้วยงบประมาณที่จำกัดทำให้เหล่าอาสาสมัครและสมาชิกของมูลนิธิฯ ทุกคนต้องช่วยกันลงมือ ลงแรง ตั้งแต่ขุดหลุมลงเสากันเลยทีเดียว นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดทั้งกายและใจ นอกจากร่างกายที่เหนื่อยแล้ว จิตใจเองก็คอยตั้งคำถามตลอดเวลาว่าฉันมาที่นี่ทำไม จนบางครั้งคิดอยากจะกลับบ้านเสียเลย แต่ยังโชคดีที่อาจารย์ประจำศูนย์คอยดูแล และบอกว่า “ถ้าเธออยู่ที่นี่ต่อ ฉันจะดูแลเธอเอง ฉันเปลี่ยนแปลงเธอให้เป็นแบบที่เธออยากเป็นและควรเป็น” แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จิตใจของอาจารย์นั้นก็สื่อถึงปิ๊งได้ หลังจากร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างถึง 1 สัปดาห์ อาคารก็พร้อมใช้สำหรับการจัดกิจกรรมของเหล่าอาสาสมัครทั้งปี
เอาตัวรอดในที่ที่ไม่มีน้ำ ไฟและอาหาร
หลังจากนั้นปิ๊งถูกส่งให้เดินทางร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนไปที่เมืองบุนจู (Bonju) เพื่อจัดแคมป์เด็ก โดยทั้ง 3 คนต้องเตรียมกิจกรรมเองทั้งหมด ตั้งแต่ออกไปคุยกับผู้ปกครองเพื่อขอให้เด็กมาเข้าร่วมแคมป์ เตรียมกิจกรรมที่จะสอนเด็กๆ อย่างวาดภาพ หรือร้องเพลง แต่สิ่งที่ยากกว่าการเตรียมแคมป์คือการเอาตัวรอดที่นี่ เพราะที่นี่ไม่มีทั้งน้ำ และไฟฟ้าให้ใช้ ไม่มีแม้กระทั่งอาหาร ทุกวันปิ๊งและเพื่อนๆ ต้องเดินทางไกลเพื่อไปขนน้ำมาใช้ หาอาหารมากิน และต้องรีบเตรียมกิจกรรมทุกอย่างให้เสร็จในช่วงกลางวัน เพราะช่วงเวลากลางคืนนั้นมืดจนมีเพียงแสงจากดวงจันทร์บนท้องฟ้าเท่านั้น
ผ่านไปได้เพียง 2 ภารกิจ ปิ๊งก็ได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ จิตใจที่ได้รู้จักคำว่าขอบคุณ เพราะการอยู่บ้านที่มีพร้อมทุกอย่าง ทำให้ไม่เคยเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองมีนั้นสำคัญ ทั้งเงินหรืออาหารที่พ่อแม่จัดเตรียมไว้ให้ หลายครั้งที่พูดคำว่าขอบคุณก็เป็นเพียงคำพูดที่ออกมาจากปากเท่านั้น แต่เมื่อมาอยู่ในที่ที่ขาดแคลนจึงได้เห็นความสำคัญของทุกสิ่ง แม้กระทั่งการได้ดื่มน้ำเพียงเล็กน้อยหรือได้กินอาหารสักมื้อก็รู้สึกขอบคุณมากแล้ว
หัวหน้าที่ไม่มีใครยอมรับ
เมื่อกลับมาประจำที่เมืองอรุชา อาจารย์ก็จัดคลาสเรียนภาษาให้ ไม่ใช่แค่เรียนภาษาอังกฤษแต่ยังต้องเรียนภาษาชนเผ่ามาไซด้วย เพราะที่แทนซาเนียยังมีกลุ่มคนชนเผ่าที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการเรียนภาษาของพวกเขาเพื่อใช้ในการสื่อสารก็เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ในแต่ละวันเหล่าอาสาสมัครต้องออกไปจัดกิจกรรมในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยแต่ละคนจะได้รับหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้งบรรยายเรื่องโลกของจิตใจ สอนภาษาอังกฤษ สอนภาษาจีน วาดภาพ เต้น และร้องเพลง ในช่วงเวลานี้เองที่อาจารย์ได้มอบหมายภารกิจให้ปิ๊งอีกครั้ง คือ การเป็นหัวหน้าทีมของอาสาสมัครทั้งหมด ในตอนแรกปิ๊งไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้รับหน้าที่นี้ เพราะหลายครั้งที่เขาแสดงท่าทีว่าขี้เกียจทำกิจกรรม และอยู่ไปวันๆ โดยไม่ค่อยสนใจใครด้วยซ้ำ แต่อาจารย์กลับเลือกให้ไปเป็นผู้นำของคนที่เก่งทุกอย่าง เขาต้องเป็นคนวางแผนทั้งหมดว่าแต่ละวันใครต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง ในช่วงแรกไม่มีเพื่อนคนไหนฟังปิ๊งเลย จนปิ๊งเองก็รู้สึกท้อใจ และไม่รู้จะทำอย่างไรถึงจะนำเพื่อนๆ ได้
แต่วิธีการสอนของอาจารย์นั้นค่อนข้างแตกต่างจากที่เขาเคยเห็นมา ทุกวันปิ๊งจะถูกอาจารย์บอกว่า “เธอเป็นคนโง่” “เธออยู่ที่นี่ทำไม” “เธอเรียนรู้อะไรจากคนอื่นบ้าง” เหมือนจะเป็นการต่อว่าอย่างเดียว แต่ทุกครั้งอาจารย์จะพูดว่า “ฉันพูดให้เธอคิด” จนวันหนึ่งที่ปิ๊งเริ่มเข้าใจสิ่งที่อาจารย์กำลังจะสื่อ นั่นคือ ปิ๊งค้นพบว่าตัวเองเป็นคนโง่ แต่กลับรู้สึกดีใจ เพราะเข้าใจแล้วว่าคนโง่ต้องเรียนรู้จากคนอื่น ที่ผ่านมาเขาพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาตลอด เพราะคิดว่าตัวเองเก่งพอที่จะเลือกเส้นทางของตัวเองได้ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว จนกลายเป็นคนเสเพลและใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายในที่สุด เมื่อได้เห็นตัวเองอย่างชัดเจน ปิ๊งก็ได้เห็นว่าตัวเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เขาจึงคอยสังเกตและเรียนรู้จากเพื่อนๆ และค่อยๆ ได้รับการยอมรับในฐานะหัวหน้าทีมในที่สุด
หลังจากนั้น อาจารย์ก็คอยสอนปิ๊งเสมอทั้งเรื่องการใช้ชีวิตแบบคิดถึงจิตใจคนอื่น แม้แต่สิ่งเล็กน้อยอย่างการแต่งตัว อาจารย์ยังสอนให้คิดเผื่อคนอื่นว่าจะแต่งตัวอย่างไรให้เหมาะสม หากวันหนึ่งที่อาจารย์ไม่อยู่ที่ศูนย์แล้วมีนักเรียนหรือนักศึกษามาพบอาจารย์เพื่อปรึกษาปัญหาภายในใจ ปิ๊งก็ต้องเป็นตัวแทนของอาจารย์ที่จะพูดคุยกับพวกเขาได้ หากแต่งตัวไม่ดีก็คงทำให้ดูเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ และทำให้ผู้คนเหล่านั้นสูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
คนใหม่
เวลา 1 ปี 7 เดือนในแทนซาเนียผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุกกิจกรรมและทุกคำสอนของอาจารย์ค่อยๆ สร้างตัวตนของปิ๊งขึ้นมาใหม่ จากเด็กที่เคยใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมายและโหยหาการยอมรับจากผู้อื่น กลายเป็นคนที่รู้จักเรื่องโลกของจิตใจและให้คำปรึกษาคนอื่นได้ จากคนที่คิดแต่เรื่องของตัวเองเป็นคนที่คิดเผื่อคนอื่นได้
“ผมเคยเป็นแค่คนที่ทำตามใจตัวเองและเห็นแก่ตัวจนไม่รู้ว่าจิตใจตัวเองนั้นไม่สามารถรับฟังคนอื่นได้ จิตใจที่คิดว่าตัวเองเก่งและมีความสามารถจริงๆ แล้ว มันไม่มีค่าเลยเมื่อต้องไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริง ตอนที่ติดตามแค่ความคิดของตัวเองก็ได้แต่ทำเรื่องที่ส่งผลเสียให้คนอื่นมากมาย ช่วงเวลาที่อยู่ที่แทนซาเนีย ผมได้เรียนรู้และเปลี่ยนจิตใจใหม่ ถึงแม้ร่างกายจะลำบาก แต่จิตใจกลับได้รับความสุข ผมได้เรียนรู้จากคนมากมายที่นั่น เป็นช่วงเวลาที่จะไม่ลืมไปทั้งชีวิตครับ”