เด็กไทยคว้าที่ 3 แข่งขันเขียนโครงการพัฒนาเยาวชน ระดับโลก มุ่งมั่นออกแบบอนาคตของพวกเขาด้วยมือตัวเอง

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา องค์กร UNIV LEADERS (ยูนีฟ ลีดเดอร์ส) ภายใต้สังกัดมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ได้จัดงาน Online Global Leaders Conference หรือการประชุมเยาวชนนานาชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมในงาน “World Camp หรือค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ” เป็นโปรแกรมการเขียนโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเยาวชนที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วโลก อาทิ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อาหาร ความรุนแรง และปัญหาสังคมอื่นๆ เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แบ่งกลุ่มทีมละไม่เกิน 10 คน โดยจัดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) พร้อมกับอีก 12 ประเทศทั่วโลก คือ ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน กานา ไอวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย เอสวาตินี ยูกันดา และคิริบาตี ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกเขียนโครงการเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเยาวชนในประเทศไทย หรือของประเทศอื่นๆ ได้ สำหรับรางวัลที่ 1 จะได้รับเงิน 30,000 บาท รางวัลที่ 2  จะได้รับเงิน 15,000 บาท และรางวัลที่ 3 จะได้รับเงิน 9,000 บาทสำหรับการแข่งขันในประเทศไทยมีผู้สมัครเข้าร่วม 11 ทีม จำนวน 110 คน ซึ่งทีมเขียนโครงการจากประเทศไทยได้รับรางวัลที่ 3 จาก 113 ทีมทั่วโลก

ประเทศไทยได้จัดกิจกรรมผ่านโปรแกรมซูม(Zoom) แต่ละวันน้องๆ จะต้องแก้ไขไปตามโจทย์ที่เราจัดเตรียมให้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการคนไทยคอยตัดสินและให้คะแนน แต่ในการนำเสนอผลงานเป็นวิดีโอชิ้นสุดท้าย จะส่งไปให้ศูนย์ใหญ่ที่เกาหลีใต้เป็นผู้ให้คะแนน พร้อมรวบรวมคะแนนจากฝั่งไทยเพื่อตัดสินในรอบสุดท้าย จากนั้นจะนำโครงการที่ได้รับรางวัลไปเสนอให้กับประเทศต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

เมื่อผ่านการแข่งขันไปประมาณครึ่งทาง ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้ก่อตั้ง IYF ประจำประเทศไทย ได้ให้บรรยายเรื่องโลกของจิตใจ หรือ Mind Lecture ซึ่งยกตัวอย่างเรื่องราวของนักไอซ์สเก็ตหญิงชาวเกาหลีใต้ที่ชื่อว่า คิมยูนา อาจารย์บอกน้องๆ ว่าศัตรูที่สำคัญที่สุดไม่ใช่คนอื่นหรือคู่แข่ง แต่เป็นตัวของพวกเราเอง กว่าที่คิมยูนา จะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้เธอต้องหักห้ามใจในการใช้ชีวิต ทั้งการควบคุมอาหาร การซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนคนอื่น โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า คู่แข่งที่กลัวที่สุดของเธอคือตัวเธอเอง อาจารย์พยายามจะสื่อสารว่าคู่แข่งของน้องในครั้งนี้ไม่ใช่คนอื่น แต่คือตัวน้องเอง จิตใจที่เอาชนะตัวเองดีกว่าการที่จะไปแข่งขันกับคนอื่น โดยน้องๆ ก็ได้รับคำแนะนำของอาจารย์เข้ามา เพราะพวกเขาได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำโครงการของเขาให้ออกมาดีที่สุดเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการศึกษาแทน

และสุดท้ายก็ไม่เป็นที่ผิดหวัง ทีมของประเทศไทยคว้ารางวัลที่ 3 ได้มาอย่างภาคภูมิใจ และที่น่าตกใจก็คือสมาชิกในกลุ่มล้วนเป็นนักเรียนมัธยมทั้งสิ้น โดยเลือกประเด็นปัญหาด้านระบบการศึกษาของประเทศบราซิล ในหัวข้อ ‘การเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ผ่านการทำงานให้กับเยาวชนในบราซิล’ เนื่องจากปัญหาของเยาวชนในประเทศบราซิลส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องครอบครัวและการขาดงบประมาณเพื่อใช้ในการศึกษา สร้างความดีใจให้กับทุกทีมของประเทศไทยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก

บทสัมภาษณ์

น้องๆ แต่ละคนได้แบ่งปันความรู้สึก และความประทับใจว่า ตอนที่รู้ว่าเราได้รางวัล ก็เซอร์ไพรส์มากเพราะแข่งขันกันหลายประเทศ และเราก็ไม่ได้เป็นทีมที่เก่งที่สุด เราเป็นมือใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าร่วมโปรแกรมลักษณะแบบนี้เลย แต่เราก็คิดว่าก็แค่ทำเต็มที่ที่สุด และทุกคนในทีมเข้ามาด้วยความตั้งใจ โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัลหรือเป็นผู้ชนะ ช่วงแรกรู้สึกท้อและถอดใจ เพราะคะแนนกลุ่มเราไม่ดีเท่าที่หวังไว้ แต่เรารู้สึกว่าเกมยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร การที่เริ่มต้นไม่ดีไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่ามันจะไม่ดีตลอดทาง ทุกอย่างมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้พวกเขายังกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการฟังบรรยายช่วง Mind Lecture ว่า ตอนที่ฟังบรรยาย เราได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า คนที่ประสบความสำเร็จต้องเคยผ่านอุปสรรค และต้องเอาชนะจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน พี่ที่ดูแลทีมเราได้แบ่งปันเรื่องราวชีวิตของเต่าทะเลว่า ในทุกปีแม่เต่าทะเลต้องว่ายน้ำเป็นพันๆ กิโลเมตรเพื่อไปวางไข่บนชายหาด แม้จะวางไข่เป็นร้อยใบ แต่ลูกเต่าที่รอดมากลับมีเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น เมื่อเราฟังแล้วก็ได้กลับมาคิดทบทวนว่า ถึงแม้ว่าการทำงานจะยากลำบาก แต่ก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ และเหตุผลที่เราอยากเข้าร่วมโครงการครั้งนี้คือ พวกเราเป็นนักเรียนที่ได้เห็นระบบการศึกษาอย่างชัดเจน ว่าบางครั้งที่นักเรียนทำตัวมีปัญหา หรือสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม หลายครั้งไม่ได้เป็นความผิดที่ตัวนักเรียน พวกเราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขระบบการศึกษา แม้ตอนทำโครงการจะเหนื่อยมาก แต่เมื่อทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างออกมา ตอนนี้ก็มีความสุขมากๆ แม้ว่าไม่ได้ที่ 1 ก็ไม่เสียใจเลย อย่างน้อยพวกเราก็พาประเทศไทยไปติดอันดับนานาชาติได้แล้ว และต่อให้ไม่ติดแม้สักอันดับ ก็ไม่เสียใจเหมือนกันเพราะพวกเราทำเต็มที่แล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าโครงการนี้จะถูกนำไปใช้ในอนาคต ตอนนี้คือเราวางแผนกันคิดก่อนไว้ล่วงหน้า เมื่อพวกเราโตขึ้นขึ้นก็จะนำโครงการนี้นำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพราะว่าการที่กรรมการตัดสิน 2-3 คนมันไม่สามารถที่จะทำให้หยุดความคิดของเราได้ เรารู้สึกขอบคุณมากๆ เลย