เดินทางไปเปิดโลกในประเทศที่พรมแดนทุกด้านถูกล้อมด้วยประเทศแอฟริกาใต้ ไม่มีทางออกทะเล ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูงอุดมสมบูรณ์ ใช่แล้ว นั่นคือ “เลโซโท (ราชอาณาจักรเลโซโท)” นั่นเอง สาวไทยใจกล้าที่เดินทางไปเป็นอาสาสมัครเป็นเวลา 9 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2561 – มิถุนายน 2562 คือ น้องนุ๊ก หรือ นางสาวนุชนันท์ แซ่ลี้  นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา เธอเข้าร่วมโครงการอาสามัครต่างประเทศกับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) เพื่อออกเดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

จุดเริ่มต้นการเดินทางในครั้งนี้ นุ๊กเล่าว่า ช่วงที่เรียนอยู่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ทำอะไรก็ดูเบื่อๆ ไปหมด ไม่อยากจะพูดคุยกับใคร พยายามหากิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบแต่ก็ไม่มีความสุข ทุกอย่างดูว่างเปล่า จนกระทั่งได้ฟังประสบการณ์จากอาสาสมัครในโครงการทั้งคนไทยและต่างประเทศ จึงคิดว่าตนเองก็น่าจะลองออกไปจากที่เดิม หรือลองทำกิจกรรมใหม่ๆเพื่อผู้อื่นดูบ้าง จึงท้าทายตัวเองเดินทางไปเลโซโท ดินแดนที่นุ๊กรู้จักแค่ชื่อประเทศเท่านั้น

แอฟริกาในมุมมองใหม่

                จากประเทศไทยไปเลโซโท ต้องใช้เวลาถึง 17 ชั่วโมง เมื่อได้สัมผัสกับอากาศของที่นั่นนุ๊กรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เพราะได้ยินมาว่าเลโซโทเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาประเทศเดียว ที่มีหิมะในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อไปถึงก็เป็นช่วงปลายฤดูหนาว จึงสัมผัสได้เพียงอากาศที่เย็นสบายเท่านั้น “ตอนที่อยู่บนเครื่องบิน แล้วมองลงมา เหมือนกับเห็นภาพวาดเลยค่ะ เพราะเห็นแค่ทรายสีน้ำตาล และไม่มีสีเขียวเลย ต้นไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเพราะอากาศที่เย็นจัดในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา”

ที่เลโซโทมีศูนย์ของไอวายเอฟมีเพียงที่เดียวคือที่กรุงมาเซลู เมืองหลวงของประเทศ สมาชิกและอาสาสมัครทั้งหมดจะอาศัอยู่ร่วมกับครอบครัวของอาจารย์ผู้ดูแล ที่ศูนย์นี้มีเพื่อนๆ อาสาสมัครจากหลากหลายประเทศทั้งจากเกาหลีใต้ จีน อินเดีย ไทย ไต้หวันและคนท้องถิ่นเลโซโท รวมทั้งสิ้น 20 คน ไอวายเอฟ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลให้ใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ช่วงแรกที่สาวไทยไปถึง ยังไม่มีกิจกรรมให้ทำมากนัก แต่อาจารย์จะให้ภารกิจกับทุกคน คือ เปิดโอกาสให้คิดว่า “วันนี้จะทำกิจกรรมอะไรดี?” เพราะอาจารย์อยากจะฝึกให้เหล่าอาสาสมัคร “คิด” ลองทำอย่างเป็นผู้นำและใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ภารกิจแม่บ้าน

ส่วนภารกิจแม่บ้านแม่เรือนของสาวไทย คือ รับผิดชอบเรื่องอาหารให้กับเพื่อนๆ รับประทานตลอดระยะเวลา 2 เดือน โดยมีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ เนื่องจากงบประมาณค่อนข้างจำกัด นุ๊กจึงใช้วัตถุดิบเท่าที่มีในศูนย์เท่านั้น ส่วนมากคือ เกลือ น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง กะหล่ำปลี แครอท หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง “โชคดีที่เตรียมผงปรุงรสสำเร็จรูปไปด้วย จึงทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ไข่พะโล้ บางอย่างก็ไม่เคยทำ ต้องลองทำครั้งแรก แม้จะไม่ค่อยมีความมั่นใจ แต่เพื่อนๆ ก็ชอบกันมาก หลายๆ คนถึงกับบอกว่าจะหาโอกาสมาที่ประเทศไทยให้ได้ เพื่อชิมอาหารไทยต้นตำรับจริงๆ” นุ๊กกล่าว  เมื่อครบ 2 เดือน เพื่อนๆ ก็จะหมุนเวียนกันมารับช่วงภารกิจทำอาหาร ทำให้ตลอดระยะเวลา 9 เดือน นุ๊กได้ทานอาหารแบบนานาชาติเลยทีเดียว แต่ “การกินอาหารของคนเลโซโท คือ ทานเหมือนกันทั้งประเทศ ยี่ห้อเดียวทั้งประเทศ  เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็มีอยู่ยี่ห้อเดียว พวกเขาจะทานเหมือนๆ กัน ถ้าทำกับข้าว ก็ซื้อไก่ยี่ห้อเดียวกัน ไม่ค่อยหลากหลายในเรื่องการกิน” อาหารท้องถิ่นของเลโซโท ส่วนมากจะมีลักษณะแห้งๆ เช่น ผักนำมาซอยเล็กๆ ปรุงรสด้วยเกลือแล้วผัดจนแห้ง คนที่นั่นยังชอบกินเฟรนช์ฟราย ไส้กรอกย่าง ไก่ย่าง สภาพความเป็นอยู่ของคนเลโซโท จะตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของแอฟริกาที่เคยเจอตามรูปภาพหรือสื่อประชาสัมพันธ์ทั่วไปที่มักจะนำเสนอความอดอยาก เลโซโทเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์พอตัว

ห้องเรียนโลกของจิตใจ

                กิจกรรมหลักของไอวายเอฟที่เลโซโท คือ “ห้องเรียนโลกของจิตใจ” (Mindset Education Class) ซึ่งเป็นการจัดร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร ตำรวจ หรือแม้กระทั่งในรัฐสภาก็มีการเรียนการสอนหลักสูตรนี้เช่นกัน และสิ่งที่ถือเป็นความภูมิใจอีกอย่างหนึ่งในชีวิต คือ นุ๊กมีโอกาสเข้าเฝ้า “สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซีที่ 3 แห่งเลโซโท” เพื่อกราบบังคมทูลฯเชิญเสด็จฯ ร่วมค่ายเยาวชนนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้

                นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์ยังมีกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปที่สามารถมาเข้าร่วมได้ฟรี อย่างเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี หรือภาษาจีน ส่วนกิจกรรมที่ได้ใจคนที่นั่นมากที่สุด คือ การเต้น “หนูได้สอนเต้นเยอะมากค่ะ แต่สอนแค่เพลงที่เต้นง่ายๆ คนที่นั่นมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลง พวกเขาชอบเต้นด้วย แต่จะเรียนรู้เรื่องเต้นได้ค่อนข้างช้า จัดระเบียบร่างกายไม่ได้ แต่ชอบเรียนเต้นกันมากค่ะ” คนเลโซโทชอบคนต่างชาติมาก พวกเขาค่อนข้างเป็นกันเอง แค่เดินผ่านก็ทักทายสนิทสนม พวกเขามักจะมองว่าคนเอเชียทุกคนคือ “คนจีน” เพราะที่นั่นคนจีนเยอะมาก ทำให้คนท้องถิ่นทักทายพวกอาสาสมัครเสมอว่า “หนีห่าว หนีห่าว”

เมื่ออยู่ที่เลโซโทได้สักระยะหนึ่ง นุ๊กจึงขออาจารย์ออกไปทำภารกิจข้างนอกด้วยตัวเองดูบ้าง นั่นคือ การเดินทางแบบไม่ใช้เงิน สาวไทยตะลุยไปที่เมืองบูทา-บูเท (Butha-Buthe) กับเพื่อนชาวเกาหลีใต้ และอินเดีย ทั้งหมดสามคน เข้าไปในชุมชน และสอนเรื่องโลกแห่งจิตใจให้กับชาวบ้าน เหล่าอาสาสมัครต้องหาที่พักกันเอง สุดท้ายโชคดีได้พักในบ้านของคุณยายที่เรียนกับพวกเขา คุณยายท่านนี้เหมือนกับคนเลโซโททั่วไปคือ ใจดีมาก ผู้สูงอายุส่วนมากจะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ตอนที่สื่อสารกันจึงต้องเรียกหลานๆมาเป็นล่าม บวกกับโบกไม้โบกมือใช้ภาษากายคุยกัน จึงเข้าใจกันได้ไม่ยากนัก

ส้วมแบบพกพา

ตกดึกนุ๊กเกิดอยากเข้าห้องน้ำ ตอนนั้นสาวไทยรู้ดีอยู่แล้วว่า บ้านของคนเลโซโทจะไม่มีห้องน้ำในตัวและบ้านนี้ก็เช่นกัน แต่เมื่ออดทนไม่ไหว จึงต้องบอกคุณยายเจ้าของบ้านว่าอยากเข้าห้องน้ำ คุณยายก็เดินนำทางไปอีกห้องหนึ่งในบ้านแล้วหยิบถังน้ำออกมา ตอนแรกเข้าใจว่าจะให้เอาไปตักน้ำแล้วไปเข้าห้องน้ำ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เมื่อสื่อสารกันด้วยคำพูดไม่ได้ คุณยายจึงนั่งปัสสาวะใส่ถังสาธิตให้ดูเสียเลย ตอนนั้นถึงได้รู้ว่า “มันคือส้วมแบบพกพานั่นเอง” เนื่องจากในเวลากลางคืนข้างนอกมืด ชาวบ้านจะไม่ออกไปนอกตัวบ้าน ต้องใช้ส้วมแบบพกพาแทน

เวลา 9 เดือนในเลโซโทผ่านไปอย่างรวดเร็ว กิจกรรมที่หลากหลายค่อยๆ มาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายในจิตใจของนุ๊ก จากจุดเริ่มต้นแค่อยากหลีกหนีจากความเบื่อหน่ายในชีวิต “หนูกลายเป็นคนที่รับฟังคนอื่นง่ายขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่เคยฟังใคร แค่ใช้เหตุผลตัวเองเป็นหลัก พอผ่านการไปเป็นอาสาสมัครแล้ว รู้สึกเติบโตขึ้น อาจจะเป็นเพราะถูกฝึกให้ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง  ที่ผ่านมาทำอะไรง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ชอบคิดลึกๆ แต่อยู่ที่นั่น ต้องคิดเยอะมาก เมื่อเกิดปัญหา เราก็ต้องคิดแล้วแก้ไขให้ได้ ลักษณะการใช้ชีวิตสอนให้คิดลึกๆ คิดหลายรอบ และได้มองมุมของคนอื่นว่า ทำไมเขาจึงต้องคิดแบบนั้น ในขณะเดียวกันก็ได้ทบทวนตัวเองด้วยว่าสิ่งที่คิดอยู่ถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้จากคนอื่นด้วยค่ะ”