ผู้นำการศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา เรียนรู้หลักสูตร Mind Education เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาเยาวชน

เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ได้รับเชิญจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้จัด Education Leaders Forum งานสัมมนาเพื่อพัฒนาจิตใจผู้นำด้านการศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา ในกรุงเทพมหานคร ด้วยหลักสูตร Mind Education ณ ห้องประชุมสุธี-ฉวีวรรณ มีนชัยนันท์ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี โดยมี ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หัวหน้างานแนะแนว หัวหน้างานคุณครูที่ปรึกษา และหัวหน้างานปกครอง รวมผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น จำนวน 124 คน

งานสัมมนาครั้งนี้ได้จัดขึ้นสืบเนื่องจากทางผู้บริหาร IYF ได้มีโอกาสพบกับ เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา การพัฒนาจิตใจ ควบคู่ไปกับทางด้านวิชาการ โดยเริ่มต้นจากผู้นำทางด้านการศึกษาของอาชีวะ เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดและส่งต่อให้กับเยาวชน

ด้านคุณยุพิน พิมศร ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษา กรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และคุณมุกรินทร์ สุมาริธรรม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ได้เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้นำการศึกษาในงานครั้งนี้

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการแสดงเต้นวัฒนธรรมจากทวีปแอฟริกาของนักเรียนโรงเรียนลินคอล์นเฮ้าส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ให้โอกาสกับเยาวชนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระบบปกติได้ รอยยิ้มที่สดใสของพวกเขาทำให้ผู้เข้าร่วมประทับใจเป็นอย่างมาก

จากนั้นเป็นการเข้าสู่กิจกรรมหลัก แบ่งเป็น 3 ช่วง โดยในช่วงแรก ผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้ทำความรู้จักตนเอง ผ่านทางการทำกิจกรรมกราฟชีวิต ที่ได้ย้อนคิดถึงช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิต ทั้งช่วงที่มีความสุขและมีความทุกข์ หลังจากนั้นนำกราฟชีวิตของตัวเองที่วาดไว้ นำมาผลัดกันเล่าแบ่งปันกับคนข้างๆ ซึ่งบางคนถึงแม้จะเป็นเพื่อนร่วมงานกันมานาน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องราวชีวิตของกันและกัน ทำให้ได้รู้จักจิตใจของกันและกันมากขึ้น

 

โดยนายธีรวัฒน์ อ่อนตานา (โก้) นักเรียนโรงเรียนลินคอล์นเฮาส์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แบ่งปันเรื่องราวการใช้ชีวิตของ ว่า ตนคิดมาตลอดว่าเพื่อนและยาเสพติด คือ ความสุข แต่เมื่อได้เรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจจากผู้อำนวยการโรงเรียนลินคอล์นเฮาส์ ทำให้เข้าใจว่า “ทางที่ดูเหมือนว่าถูกต้อง แต่สุดท้ายสิ้นสุดลงด้วยความตาย” เหมือนกับการเสพยา และการค้ายาที่คิดว่ามันสนุกและทำให้หาเงินได้นั้น สุดท้ายจะต้องจบลงด้วยความล้มเหลวและใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างแน่นอน เมื่อได้ค้นพบจิตใจของตัวเองทำให้ได้เชื่อมต่อกับคุณครู และหลุดพ้นจากวังวนของยาเสพติด จากคนที่ไม่มีความหวังในการใช้ชีวิต ก็กลับมีความหวังที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

สำหรับช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด คือ การฟังบรรยายเรื่องโลกของจิตใจ โดย คุณดาวิด คิม ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาโลกของจิตใจ ผู้บรรยายได้กล่าวถึงพลังของการเชื่อมต่อว่า แม้ในชีวิตของนักเรียนจะมีปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ถ้าพวกเขาได้เรียนรู้การเชื่อมต่อจิตใจกับคนรอบข้าง พวกเขาก็จะสามารถได้รับกำลังใหม่ที่จะเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้ โดยผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างเรื่องราวชีวิตของมินซอบ ซึ่งเป็นเด็กออทิสติก และที่ผ่านมาคุณพ่อก็มองลูกเป็นออทิสติกมาโดยตลอด แต่เมื่อคุณพ่อได้เรียนรู้การเชื่อมต่อกับผู้ก่อตั้ง IYFและได้รับพลังที่เป็นความคิดใหม่ว่า “มินซอบเป็นเด็กปกติ” ทำให้เขาเห็นว่า ตัวเองต่างหากที่พิการ เพราะอยู่แต่ในกรอบความคิดของตัวเอง เมื่อคุณพ่อเปลี่ยนจิตใจใหม่ ตอนนั้นชีวิตของมินซอบก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเด็กออทิสติกที่คุณหมอบอกว่าไม่สามารถเรียนจบระดับชั้น ป. 4 ได้ ปัจจุบันมินซอบจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสาขาภาษาอังกฤษ และใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป

ตลอดช่วงการบรรยาย ผู้เข้าร่วมทุกคนตั้งใจฟัง และให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยในช่วงท้ายของการบรรยาย ผู้บรรยายได้กล่าวแนะนำโรงเรียนลินคอล์นเฮาส์ว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่พิเศษกว่าโรงเรียนทั่วๆ ไป นอกจากจะให้การศึกษาตามหลักสูตรแล้ว ก็ยังให้การศึกษาเรื่องโลกของจิตใจ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะทิ้งใจเดิมของตัวเอง และรับใจใหม่เข้าไปแทนที่ จากการไหลเวียนจิตใจกับคุณครู ผู้บรรยายเชื่อว่า เยาวชนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ และพลังของการเชื่อมต่อนี้ก็ถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก

ในช่วงสุดท้าย เป็นกิจกรรมห้องเรียนจำลอง โดยทำ ‘กิจกรรม 3.3.3.’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผู้คนโดยทั่วไปในยุคปัจจุบันไม่ค่อยสื่อสารหรือพูดคุยเรื่องจิตใจกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ ตลอดชั่วโมงกิจกรรมนี้ ผู้เข้าร่วมได้นึกถึงคนหนึ่งคนที่อยากจะไหลเวียนจิตใจด้วย และเขียนสิ่งที่อยากขอโทษ 3 อย่าง สิ่งที่อยากขอบคุณ 3 อย่าง และเขาสำคัญกับเราอย่างไร 3 อย่างให้แก่บุคคลนั้น

ผู้นำและบุคลากรทางด้านการศึกษาหลายท่านได้มีโอกาสได้นึกถึงคนที่อยากจะพูดคุยสื่อสารด้วยมากที่สุด และได้นำสิ่งที่เขียนแบ่งปันให้กับเพื่อนข้างๆ และส่งต่อไปให้คนที่เขียนถึงในภายหลัง จากที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดความในใจออกมาให้อีกฝ่ายได้รับรู้ ทำให้หลายครั้งเกิดความไม่เข้าใจกัน และห่างเหินกันไป แต่ผ่านทางกิจกรรมนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นจิตใจซึ่งกันและกัน และเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้บรรยากาศภายในงานนั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่น

ปัจจุบันมีเยาวชนมากมายที่มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวแตกแยก การทะเลาะ และกลั่นแกล้งในสถานศึกษา และปัญหายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น จนดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ แต่ผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ผู้นำและบุคลากรทางด้านการศึกษามีความหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนสามารถแก้ไขได้ผ่านทางการเรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจ จึงอยากจะให้วิทยากรของ IYF มาบรรยายและทำกิจกรรมกับสถานศึกษาต่างๆ หรือชุมชนที่อยู่ในความดูแล ซึ่งจะกลายเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาจิตใจของทั้งบุคลากรและเยาวชนของประเทศไทยต่อไป

น.ส.ประภัสสร นครไพร หัวหน้างานแนะแนวอาชีพและจัดหางาน วิทยาลัยพานิชการเชตุพน

จากการฟังบรรยายทำให้ตนได้รับความรู้และเข้าใจพื้นฐานของจิตใจของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากมีปัญหาเกิดขึ้นกับนักศึกษาหลายๆด้าน อย่างเช่น ครอบครัว ความสัมพันธ์ ยาเสพติด จึงอยากนำความรู้นี้ไปปรับใช้และถ่ายทอดให้กับนักศึกษาในวิทยาลัยด้วย

ส่วนกิจกรรมที่ชอบจะเป็นกิจกรรม 3-3-3 ที่ให้ขอโทษ ขอบคุณ และเขียนบุคคลที่สำคัญกับเรา
เป็นกิจกรรมที่ช่วยสะท้อนถึงตัวตนของเราออกมา ทำให้เห็นว่าในจิตใจเราได้คิดถึงใครบ้าง