เยาวชน ไทย จีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ กว่า 470 คน แข่งขันเขียนโครงการพัฒนาสังคม ในธีม For the Social Betterment เพื่อสังคมที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 15 -17 มิถุนายน 2655 มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ได้จัดงาน Leaders Conference ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมในงาน “World Camp หรือค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ” เป็นกิจกรรมแข่งขันเขียนโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนา และแก้ไขปัญหาของเยาวชนที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาทิ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อาหาร ความรุนแรง และปัญหาสังคมอื่นๆ เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับชั้นมัธยมปลายถึงระดับมหาวิทยาลัย แบ่งกลุ่มทีมละไม่เกิน 10 คน โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เกาหลี และฟิลิปปินส์ กว่า 470 คน มาปรึกษาหารือกัน ในธีม For the Social Betterment เพื่อสังคมที่ดีขึ้น

ประเทศไทยเริ่มจัด Leaders Conference ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมจากในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกว่า 2,000 คน โดยครั้งนี้เองก็มีนักเรียนที่ให้ความสนใจและลงสมัครเป็นจำนวนมาก

ในแต่ละวันผู้เข้าร่วมจะได้ทำมิชชั่น ซึ่งจะมีกรรมการคอยตัดสินและให้คะแนน โดยในวันสุดท้ายจะเป็นการนำเสนอโครงการ อีกทั้งยังมีเงินรางวัลและเกียรติบัตรสำหรับทีมที่ชนะด้วย

ก่อนจะถึงวันงาน เราได้กิจกรรมปฐมนิเทศจัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน เป็นการพบปะพูดคุยครั้งแรกผ่านออนไลน์ Zoom เพื่อแนะนำโครงการ และแนะนำกิจกรรมที่จะดำเนินการในแต่ละมิชชั่น เป็นช่วงเวลาที่น้องๆ ได้เลือกประเด็นปัญหาที่อยากจะแก้ไข

 

เพื่อเตรียมโครงการอย่างต่อเนื่อง วันที่ 11-14 มิถุนายน ผู้เข้าร่วมปรึกษาหารือกัน ในระบบออนไลน์ ให้นักเรียนจากไทยและต่างประเทศได้คุยปรึกษาเพื่อเตรียมโครงการล่วงหน้า

วันที่ 15 มิถุนายน ในวันเริ่มแคมป์ เป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมได้พบปะกันเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมคนไทยที่มาจากแต่ละจังหวัด หรือผู้เข้าร่วมที่มาจากต่างประเทศ

โดยครั้งนี้ได้รับความสนใจและการตอบรับจากหน่วยงานมาเป็นกรรมการมาจากสหประชาชาติ ได้แก่  พ.ต.อ.นิมิตร  ชิตเจริญ ผกก.ฝ่ายป้องกันอาชญากรรม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ(UNODC)  คุณนิรันดร์ นิรันดร์นุต ผู้จัดการโครงการ ประจำ UNDP ประเทศไทย จากหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง คุณสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการมูลนิธิมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จากภาคเอกชน จากมูลนิธิต่างๆ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง รวมถึง ดร.ธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และคุณชยพล สท้อนดี ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ร่วมสังเกตการณ์พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ

ในช่วงของการให้คำแนะนำจากกรรมการ เนื่องจากกรรมการที่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆเป็นพิเศษ จึงสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เข้าร่วมได้นำไปปรับปรุงแนวคิด และการแก้ปัญหาในโครงการ ซึ่งโครงการของเหล่าผู้เข้าร่วมได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก สำหรับผู้เข้าร่วมเอง ก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้พบปะกับเพื่อนๆที่มาจากต่างที่ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและทำงานด้วยกัน ซึ่งพวกเขาเองก็ชอบการทำกิจกรรมลักษณะนี้เช่นกัน

สำหรับช่วงที่สำคัญที่สุดคือการบรรยายจาก ดร.ยองกุก พาร์ค ประธานมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา บรรยายว่า ผมรู้จักคนชื่อฮูลิโอ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ชายคนนี้เสพยามาตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน จนได้แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่ง และมีลูก เวลาผ่านไปภรรยาก็รู้สึกทนไม่ได้ที่สามีมัวแต่เสพยา เขาเองก็พยายามจะเลิก และเข้าออกสถานบำบัดเป็นสิบรอบ แต่ก็เลิกไม่ได้ ต่อมาภรรยาตาย ทำให้เกิดความคิดในใจว่าเขาคงเป็นคนที่ได้แต่ติดยา และต้องตายเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ วันหนึ่งเมื่อหมดหนทาง จึงตัดสินใจโทรไปหาคุณครูที่สถานบำบัด เพื่อขอเข้าบำบัดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เพราะเขาสามารถรับฟังแนะนำของคุณครูได้ เวลาผ่านไป 3 เดือน ก็เลิกเสพยาได้

“ก่อนหน้านี้ที่เลิกยาไม่ได้ เพราะอูลีโฮมีใจว่า เขาจะเลิกเสพยาเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อจิตใจเราคิดว่าทำได้ จะทำให้หูเราปิดทีละนิด แต่เมื่อเขารู้ว่าเลิกยาด้วยตัวเองไม่ได้ หูเขาจึงเปิด และรับฟังคำแนะนำการเลิกยาได้ ดังนั้นวิธีเลิกยาง่ายมาก คือแค่ฟังด้วยใจ ปัญหาของทุกคนสามารถแก้ไขได้ ด้วยใจของเรา ถ้าเราหันกลับมาดูตัวเองและคิดว่าปัญหานี้เราแก้คนเดียวไม่ได้ เราจะรับฟังเสียงของคนอื่นที่ช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะคนที่มีสติปัญญาที่สุด คือคนที่รู้ว่าตัวเองไม่รู้”

ในวันสุดท้าย ทีมที่ได้ผลโหวตมากที่สุดในแต่ละหัวข้อ รวม  10 ทีม มานำเสนอโครงการในการแข่งขันรอบสุดท้าย และได้รับรางวัล โดยทีมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ทีม LC 33 Education ในหัวข้อโครงการ: EDU-Pop  โดยพวกเขาเล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องความขาดแคลนด้านอุปกรณ์การศึกษา จึงคิดโครงการ EDU-Pop เป็นรถป๊อปที่สามารถกระจายสื่อสารเรียนการสอนได้อย่างทั่วถึง เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กๆ

รางวัลที่ 2 ได้แก่ ทีม LC 06 Mental Health เด็กไทย ในหัวข้อโครงการ: Mind Matters พวกเขาเล็งเห็นปัญหาด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่น จากการสำรวจอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น จึงคิดโครงการที่จะส่งเสริมสุขภาพจิต โดยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสื่ออารมณ์ทางศิลปะ การดูหนัง การใช้เวลากับธรรมชาติ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีในวัยเรียนและวัยรุ่น และอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม LC 34 Environment  ในหัวข้อโครงการ: SustainaPLAST ซึ่งในอนาคตพวกเขาจะพูดคุยและคัดเลือกจาก 10 ทีมสุดท้าย เพื่อหาทีมที่พร้อมและลงมือทำโครงการจริงต่อไป

ในช่วงสุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญได้พบปะกับ ดร. ฮีจีน พาร์ค ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกของจิตใจ ท่านกล่าวว่า“เยาวชนสมัยนี้มีความต้องการมากขึ้น และไม่มีกำลังที่จะยับยั้งสิ่งนั้น เราจึงสอนเรื่องโลกของจิตใจเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในอนาคตเราอยากจะทำงานร่วมกันกับทุกท่าน ให้เยาวชนไทยได้ยิ้มและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และผมเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตอย่างแน่นอนครับ”

ผู้เชี่ยวชาญที่มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ต่างเปิดใจ ชอบกิจกรรมและโครงการของเราเป็นอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน กล่าวว่า อยากจะร่วมงานด้วย ซึ่งกำลังนัดวันเพื่อมาพูดคุยหารือกันเพิ่มเติม

สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วม

Pham Thi Van

ฉันตัดสินใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพราะคิดว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเยาวชนค่ะ เราต้องทำบางอย่างเพื่อคนรุุ่นต่อๆ ไป และเพื่ออนาคตของเรา จะได้พัฒนาให้โลกนี้ดีขึ้นค่ะ ผ่านทางกิจกรรมนี้ ฉันได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากเพื่อนๆ คนไทย และในช่วงการพบปะกับผู้เชี่ยวชาญเองก็เช่นกันค่ะ ทำให้ฉันได้เรียนรู้หลายๆ อย่างเลยค่ะ

ริกิ โคมะซึชิโร่

มีน้องๆ แนะนำมาก็เลยได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ครับ รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมได้พัฒนาทักษะด้านการพูดนำเสนอ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ครับ ภาพโดยรวมก็ดีครับ กิจกรรมก็สนุก ได้เจอเพื่อนๆ ชาวต่างชาติด้วย ทำให้พัฒนาทักษะด้านภาษาไปได้อีกหลายขั้นเลยครับ

นายชยพล สท้อนดี ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

หลังจากที่ได้พบปะน้องๆ รู้สึกดีใจที่น้องๆแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์ และ มีความคิดที่หลากหลาย ทำให้ได้เห็นขั้นตอนของการตกตระกอนความคิดมาแต่ละส่วน แต่ละขั้นแต่ละตอน น้องๆ ที่มาเข้าร่วมก็รับคำแนะนำไปปรับใช้เป็นอย่างดี คิดว่าโครงการนี้ดีครับ เป็นโอกาสที่ทำให้วัยรุ่นหลายๆคนจากหลายประเทศที่มีเบื้องหลังการเติบโต พื้นฐานครอบครัว พื้นฐานวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ชีวิตไม่เหมือน สามารถที่จะมาแบ่งปันความคิดกันได้ และพอมาแบ่งปันความคิดกันก็สามารถมาตกตะกอนความคิดใหม่ที่สามารถโอบรับความแตกต่างของแต่ละประเทศได้ครับ

แม้การเตรียมโครงการสำหรับผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มีความยากลำบากด้านการสื่อสารบ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น บางกลุ่มเลือกที่จะยอมแพ้ไปกลางคัน แต่กลุ่มส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินการต่อจนสำเร็จ เราหวังว่า โครงการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่สังคม ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม และผู้เข้าร่วมในวันนี้ จะเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมในอนาคตต่อไป