งาน Healing Mind Workshop เผยเทคนิคการปรับความสัมพันธ์ 3.3.3.

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship : IYF) จัดงาน Healing Mind Workshop เผยเทคนิคการปรับความสัมพันธ์ 3.3.3. เพื่อเจาะลึกสาเหตุของปัญหาความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาของจิตใจ และการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม โดยมีบุคลากรของรัฐ พนักงานบริษัทเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม 387 คน

โดยช่วงที่สำคัญที่สุดคือ การบรรยายของ ดร. (กิตติมศักดิ์) ฮี จิน พาร์ค ผู้อำนวยการโรงเรียน Lincoln Middle & High School ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า แม้คำพูดที่เราพูดออกไป จะไม่ได้ตั้งใจทำร้ายใคร ก็มักจะทำให้เกิดบาดแผลกับคนอื่นเสมอ เราจึงต้องเริ่มสนทนา และรู้ใจกัน เพื่อให้บาดแผลหายไป นั่นคือ Healing Mind เมื่อก่อนผมเคยตัดสินและมองคนอื่นไม่ดี แต่เมื่อผมรู้ว่าผมเคยให้บาดแผลกับคนอื่น หลังจากนั้นผมจะคิดเสมอว่า ใจของคนรอบข้างเป็นอย่างไร เมื่อเริ่มรู้และเข้าใจว่าใจคนอื่นเป็นอย่างไร ผมจึงเริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ลิ้นคมยิ่งกว่ามีด เพราะว่าบาดแผลจากมีดเดี๋ยวก็จะดีขึ้น แต่คำพูดคำหนึ่งอาจทำให้คนอื่นเกิดบาดแผลในใจและทำให้สิ้นหวังทั้งชีวิตก็ได้

คำพูดที่ออกมาจากปาก เป็นเหมือนมีดที่ลอยมา แล้วมีดเหล่านี้จะลอยไปปักเข้าไปในใจของคน ทำให้เกิดบาดแผล คำพูดของคนๆ หนึ่งอาจจะทิ่มแทงใจดำ และทำให้คนสิ้นหวังมาก คำพูดที่คนพูดโดยไม่คิดอะไร เหมือนกับที่เวลาผมเตะก้อนหินโดยไม่คิดอะไร แต่อาจจะทำให้โดนกบที่อยู่ใกล้ๆ ตาบอดได้ ซึ่งกบตัวนั้นต้องใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีตาทั้งชีวิตจนตาย กบไม่ได้ผิดอะไรและผมเป็นคนผิด เหมือนกับหลายคำพูดที่เราพูดออกมา มันคอยทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามได้ อาจจะทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่ง เต็มไปด้วยเงามืดได้ เราเองก็ต้องลองทบทวนใจของเราบ่อยๆ และพูดออกมาในเชิงบวก ผมอยากให้ทุกคนได้ลองทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ โดยนำต้นไม้ในกระถางออก บอกมันว่า เลว ไม่อยากเห็น ตายไปเลย ถ้าพูดแบบนี้ไปเรื่อยๆ สัก 1 เดือน จะเห็นว่ามันเริ่มเหี่ยวเฉา จากนั้นนำต้นนี้ที่กำลังจะตาย และเหี่ยวมากๆ เปลี่ยนมาใช้คำพูดว่า เธอเหี่ยวหรอ ฉันชอบเธอนะ อย่าเฉาเลย ฉันไม่มีเธอไม่ได้ และฉันรักเธอนะ ทำต่อเนื่อง 1 เดือน พืชนี้จะกลับสดมาก เหมือนในสังคมเกาหลี พ่อแม่ลูกจะใช้ชีวิตเหมือนเป็นศัตรูกัน เยาวชนมากมายต้องฆ่าตัวตาย และมีความโลภ เป็นผลมาจากการตัดขาดของการสนทนา จนไม่ได้สัมผัสความรักระหว่างกัน

ดร. (กิตติมศักดิ์) ฮีจิน พาร์ค กล่าวว่า ผมจึงทำแคมเปญ 3.3.3. ที่ทำอยู่ คือ วันหนึ่ง 3 ครั้ง  / 3 คน / 3 อย่าง ตัวอย่างเช่น การคุยกับสามี ลูกชาย ลูกสาว หรือหัวหน้าที่ทำงาน ห้ามพูดเรื่องเดิมซ้ำ จะต้องพูดเรื่องใหม่ทุกครั้ง และพูดในสิ่งที่เป็นเชิงบวกเท่านั้น แม้ลูกชายจะติดเกม ก็บอกว่าเรารักเขา และเขาจำเป็นกับพ่อแม่อย่างไร อาจจะนำอาหารที่เขาชอบไปให้กิน มีคนมากมายมาปรึกษาผมเพราะลูกๆ มีปัญหา ซึ่งผมก็บอกวิธีนี้ไป แม้ลูกจะทำไม่ดี ก็ห้ามโกรธ แต่ให้ทำดีกับเขา และพูดเรื่องจิตใจ หรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ซ้ำกัน หากผ่านไป 10 วัน หรือ 1 เดือน ลูกจะสามารถสัมผัสใจของพ่อแม่ได้ จนปิดคอมพิวเตอร์ และเปิดหนังสืออ่านแทน โดยทุกวันพ่อแม่ อาจจะต้องจดสิ่งที่พูดไปแล้ว เพื่อไม่ให้ซ้ำในแต่ละครั้ง เราต้องเริ่มที่จะคิดว่า 3 อย่างที่จะพูดแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง เช่น ขอบคุณนะที่คอยฟังเรื่องเครียดของฉัน ขอบคุณที่คอยช่วยเหลือฉันเสมอ และขอโทษนะที่บางครั้งทำให้ลำบากใจ คนมากมายนำวิธีนี้ไปลองทำ ก็ทำให้ลูกเปลี่ยนแปลงได้ และผ่านทางหลักสูตรนี้ทำให้นักศึกษามากมายได้รับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการบรรยายช่วงที่ 2 ดร. (กิตติมศักดิ์) ฮัก เชิล คิม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศเกาหลีใต้จะทักทายกันว่า กินข้าวหรือยัง เพราะสมัยก่อนมีความยากลำบากเยอะ คนมากมายจึงคิดว่า ถ้ามีเงินมากกว่านี้ หรือมีการศึกษาดีกว่านี้แล้วจะทำให้มีความสุข 60 ปีผ่านไป ประเทศเกาหลีใต้จีดีพีเติบโตขึ้น 351 เท่า คนจึงร่ำรวย อยู่ดีกินดี และจบการศึกษาดีมาก

แต่ช่วงนี้ในสังคมเกาหลีจะพบกับปัญหาใหญ่คือ อัตราการฆ่าตัวตายของคนสูงอายุ คิดเป็น 73 คนต่อแสนคน ทั้งที่ เมื่อ 60 ปีก่อนคนเหล่านี้คิดว่า การไม่มีเงิน และไม่มีการศึกษาทำให้ไม่มีความสุข แต่คนที่คิดแบบนี้เมื่อตอนนั้นกลับฆ่าตัวตายเมื่อมีชีวิตที่ดี การที่คนยากจนกลายเป็นคนรวยก็สำคัญ แต่การฝึกฝนจิตใจเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะความจริงคือ บุคคลผู้ปกครองจิตใจตัวเองได้ ดีกว่าผู้ที่การตีเมืองได้ จิตใจควบคุมร่างกาย คือ หากมีโรค แต่จิตใจเข้มแข็ง โรคนั้นก็จะหายไป เราจึงเน้นการฝึกฝนจิตใจเป็นอย่างแรก หากฝึกฝนจิตใจ ต่อให้ยากจนก็มีความสุขได้ ตรงข้ามกับคนที่มีเงิน แต่ไม่เคยฝึกฝนจิตใจ จึงทำให้ใช้ชีวิตไม่มีความสุข ดังนั้นการศึกษาในอนาคตต้องไม่ใช่การสอนเพียงแค่ความรู้ เพราะตอนนี้เกาหลีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจ หรือหลักสูตร Mind Education และคาดหวังว่าในอนาคตประเทศไทยก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจเช่นกัน

จากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรม Mindset Academy เพื่อให้เข้าใจ และเห็นภาพถึงความสำคัญของความสัมพันธ์มากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทางทีมงานได้นำกิจกรรม “การวาดรูปด้วยการสนทนา” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีการสื่อสาร ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในรูปแบบที่ง่าย โดยให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กัน 2 คน ทางเจ้าหน้าที่จะแจกภาพต้นฉบับที่ปิดผนึกไว้ด้วยสติ๊กเกอร์สีเขียว และสีชมพูให้สีละหนึ่งคน ผู้เล่นคนแรกที่ได้ภาพต้นฉบับสติ๊กเกอร์สีเขียวจะเป็นฝ่ายเริ่มอธิบายภาพที่ตนเองเห็น ให้กับอีกฝ่ายวาดตามคำบอก โดยที่ทั้งคู่ห้ามเห็นรูปภาพของอีกฝ่าย

หลักสำคัญของกิจกรรมนี้คือ ผู้ที่วาดจะต้องวาดภาพให้เหมือนกับภาพต้นฉบับมากที่สุด โดยเราให้กติกาว่า สามารถที่จะถาม-ตอบกันได้ระหว่างกิจกรรม พบว่าผู้เล่นคู่ไหนที่มีการสนทนา สอบถามเกี่ยวกับภาพวาดแบบละเอียด คู่นั้นสาdมารถวาดออกมาได้เหมือนรูปภาพต้นฉบับ แต่ถ้าคู่ไหนไม่ค่อยได้สนทนาหรือถาม รูปที่วาดออกมาก็จะไม่เหมือนกับรูปภาพต้นฉบับ กิจกรรมนี้สะท้อนให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสาร โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ ที่การสื่อสารนั้นไม่ใช่แบบผิวเผิน แต่ต้องอธิบายสิ่งที่อยู่ในใจอย่างชัดเจน เพื่อลดความเข้าใจผิดระหว่างกัน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสื่อสารคือ ช่วงวัย ประสบการณ์ สังคม และความเชื่อ

บรรยากาศช่วงกิจกรรมความสัมพันธ์นี้จึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน ครึกครื้น ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจถึงความสำคัญของการสื่อสาร ผู้อธิบายภาพนั้นก็ต้องเข้าใจผู้ฟัง และอธิบายภาพอย่างชัดเจน หลังร่วมกิจกรรมผู้เข้าร่วมให้ความสนใจ นำกิจกรรมไปใช้ต่อยอดในสถาบันและองค์กรของตนเอง

ส่วนช่วง Mind Talk (Private Consult) เป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Healing Mind มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในจิตใจ และทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองมากขึ้น ผ่านทางการพูดคุย และฟังประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ ผู้เข้าร่วมได้เปิดจิตใจและพูดคุยสิ่งที่อยู่ในใจออกมา และมีความหวังว่าสามารถที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และหลุดพ้นจากปัญหาที่พบเจอได้เช่นกัน การพูดคุยโดยเริ่มจากการเปิดจิตใจ จะสามารถทำให้คนนั้นค่อยๆ ออกจากความทุกข์ ความเศร้า และความสิ้นหวังได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้เปิดจิตใจตัวเองออกมา เพื่อแก้ไขปัญหา และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

นางนภารัตน์ เจริญรัตน์ ผู้อำนวยการ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม (กอส.) กล่าวถึงความประทับใจหลังเข้าร่วมงานว่า สังคมการทำงานปัจจุบัน คนมีปัญหาทางจิตใจ และไม่มีทักษะการจัดการตัวเองเมื่อพบความเครียด ดิฉันจึงอยากมาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการจัดการความสัมพันธ์ที่ การทำกิจกรรม 3.3.3. ทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า คำที่พูดเหล่านี้เป็นคำง่ายๆ แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ ทั้งกับครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน บางทีคำพูดบางคำเราไม่ไดเจตนาที่จะทำร้ายใคร แต่เมื่อพูดไปแล้วกลับทำให้คนฟังเกิดความรู้แย่ เมื่อเราได้มาทำกิจกรรมนี้ ก็ทำให้เราได้คิดถึงจิตใจของคนอื่น และสื่อสารเชิงบวกมากขึ้น เช่น คำขอบคุณ และคำขอโทษ ก็จะพยายามพูดให้มากขึ้น หลักสูตรนี้ไม่ยาวมากเกินไป แต่สามารถทำให้เราเห็นภาพ และกลายเครื่องมือที่นำกลับไปใช้ได้จริง และเราจะนำไปใช้กับองค์กรทันที เพื่อเป็นการละลายใจของคนที่ทำงานด้วยกัน