เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่ IYF Center รังสิต มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ หรือ IYF ประจำประเทศไทย ได้จัดงาน Healing Mind ครั้งที่ 3 แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับผู้ใหญ่ และสำหรับเด็กมัธยม จำนวนคนเข้าร่วมรวมทั้งหมด 80 คน ผู้เข้าร่วมมีบางส่วนที่เคยเข้าร่วมงานก่อนหน้านี้ และเป็นคนใหม่ เริ่มตั้งแต่นักเรียนชั้นประถม มัธยม มหาลัย และบุคคลทั่วไป ช่วงอายุ 11-75 ปี ผู้เข้ารวมมีทั้งคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด บางคนใช้เวลาเดินทางมากกว่า 10 ชั่วโมง บ้างมีปัญหาในจิตใจทั้งที่เป็นเรื่องของตัวเอง หรือคนในครอบครัว บ้างป่วยโรคซึมเศร้า หรือประสบภาวะอาการติดทั้งเกม หรือยาเสพติด แม้ช่วงวัยจะต่างกัน แต่ทุกคนก็ทำกิจกรรมร่วมกันและสนุกได้

ช่วงกิจกรรม Mind Lecture โดยผู้บรรยายหลัก อาจารย์คิมฮักเชิล ที่ได้บรรยายเรื่องของ ชายพิการขายขนมปัง ที่ซอยโชคชัยสี่ เขตบางกะปิ และชายพิการ ที่ชื่อเชวอุงรยอล ชาวเกาหลี ทั้งสองคนพิการเหมือนกัน แต่พวกเขากลับใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน คือ จิตใจที่ไม่ยอมรับ กับ จิตใจที่ยอมรับตัวเอง ในตอนที่ชายพิการขายขนมปัง โดนกลุ่มวัยรุ่นแซวว่า ขนมปังจากคนพิการแบบนี้รสชาติจะอร่อยหรือ เมื่อได้ฟังคำดูถูกก็ไม่พอใจมาก เพราะมีศักดิ์ศรีของตัวเอง ในใจมีแต่คำว่า “ฆ่าได้หยามไม่ได้” จึงไปลากมีดจากหลังบ้านมาเพื่อไล่กลุ่มวัยรุ่น แต่กลับถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ตรงกันข้ามกับ เชวอุงรยอล ก็มีใจเช่นกันที่ไม่อยากยอมรับว่าตัวเองพิการ แต่วันหนึ่งที่เขาได้เห็นตัวเองอย่างชัดเจนว่าน่ารังเกียจและสกปรกขนาดไหน ตอนนั้นสามารถขอบคุณกับเพื่อนๆ ครอบครัว หรือคนรอบข้างได้ จึงใช้ชีวิตที่มีความสุขมาก ฉะนั้น การที่คนเราจะมีความสุขได้คือต้องยอมรับ และเห็นจิตใจของตัวเองชัดเจน อย่างคำกล่าวที่ว่า “ถ้าได้เห็นจิตใจตัวเอง ก็มีความสุขได้”

ส่วนช่วง Mind Sharing เกด อาสาสมัครประเทศเคนย่า รุ่น 11 ได้แบ่งปันคำพยานว่า ถึงการหลุดพ้นจากการเป็นโรคซึมเศร้า และสามารถเข้าใจจิตใจของแม่ได้ผ่านการเห็นจิตใจของตัวเองอย่างชัดเจน

ส่วน Mindset Academy เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่อง ครั้งนี้เน้นไปที่ปัญหาอาการติด และโรคซึมเศร้า ซึ่งฐานของอาการติดนั้น เราได้เล่นเกมโพสอิตติดตัว ที่ตัวเองสะบัดออกด้วยตัวเองไม่ได้ ทางเดียวคือการใช้คนอื่นช่วยเอาออกให้ หมายถึงการหลุดพ้นจากอาการติดต่างๆ คือ ต้องมีปฏิสัมพันธ์และไหลเวียนกับคนอื่น ระหว่างวันยังมี Mind Recreation เกมสุดสนุกสอดแทรกเรื่องราวของจิตใจ ที่สร้างเสียงหัวเราะ และทำให้คนเข้าร่วมงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ข้ามเส้นแบ่งเรื่องอายุกันไปเลย

อีกช่วงที่สำคัญมากๆ คือ Mind Talk ช่วงเวลาของการพูดคุยเรื่องจิตใจแบบส่วนตัว หรือการสามัคคีธรรม เมื่อสมาชิกโบสถ์เปิดใจคุยกับผู้เข้าร่วม พวกเขาก็เปิดใจพูดคุยเรื่องราวของตัวเองด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง น้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า มาตั้งแต่อายุ 13 ปี เพราะมีบาดแผลในใจตั้งแต่เด็กที่พี่ชายล่วงละเมิด จึงใช้ชีวิตจมกับความเศร้า กินยา และพยายามฆ่าตัวตาย ทั้งๆ เป็นคนที่เชื่อพระเจ้าอยู่แล้ว แต่ก็ยังบอกว่าตัวเองเป็นคนบาป ตอนที่ได้มีโอกาสสามัคคีธรรมก็ได้พูดคุยถึงเรื่องพระคัมภีร์ ถึงเรื่องความบาป เพราะเป็นทางเดียวที่จะช่วยน้องให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานได้ ช่วงเวลาสามัคคีธรรมทุกคนได้มีโอกาสคุยเดี่ยว และผู้เข้าร่วมก็ได้พูดถึงเรื่องราวที่เป็นปัญหาในชีวิตออกมาได้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่น่าอาย และไม่เคยพูดกับใครมาก่อน อย่างเช่นการถูกล่วงละเมิด โรคซึมเศร้า และเคยฆ่าตัวตาย เพราะการที่ได้คุยเดี่ยวเป็นอิสระที่ได้พูด ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เปิดใจรับฟัง ตั้งใจที่จะรับแนวทางแก้ไขปัญหาจิตใจของตัวเอง

ในส่วนของน้องๆ มัธยมจะมีกิจกรรมพิเศษที่เหมาะสมกับวัย เช่น Mind Mirror กิจกรรมที่สื่อให้น้องๆ ได้เห็น จิตใจที่เชื่อตัวเอง ชี้ให้เห็นว่าเกิดจากความคิดที่คิดว่าตัวเองเก่ง และแตกต่างจากคนอื่น โดยให้น้องๆ แลกเปลี่ยนจิตใจที่เชื่อตัวเองผ่านคำถามที่ทีมงานเตรียม และทำแบบประเมินคะแนนตัวเอง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นจิตใจที่แตกต่างระหว่างคะแนนที่คนอื่นประเมินให้เรา กับเราประเมินให้ตัวเอง ช่วง K-POP Dance Class ได้สอนเพลง Any song ของ zico เป็นเพลงที่สนุกและเต้นง่าย ทำให้น้องๆ ที่ไม่มีพื้นฐานก็สามารถสนุกกับการเรียนเต้นได้

ความพิเศษครั้งนี้ คือ Mind Lecture จากผู้บรรยายวัยเด็ก หรือนักเรียนมัธยม ซึ่งเป็นลูกของสมาชิกโบสถ์ ที่ก้าวข้ามความหนักใจและแบ่งปันเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของตัวเองให้เยาวชนคนรุ่นเดียวกันได้มีความหวังในการใช้ชีวิตในอนาคต โดยน้องพระคุณ ลูกชายผู้ปกครองเปี๊ยก ได้บรรยายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของการเรียนว่าจิตใจที่เอาแต่หนีความยากลำบากจะไม่สามารถไดรับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่คนที่ได้รับเอาความยากลำบากเข้ามาแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับข้อผิดพลาดและความยากลำบากจะทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้นได้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด เหมือนกับหอยมุกที่รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามาแล้วอยู่กับสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นเวลา 2 ปีเพื่อรอเวลาการเปลี่ยนแปลง

แม้ว่างานครั้งนี้จะมีคนเข้าร่วมไม่มาก แต่สิ่งสำคัญคือ คนเพียงคนเดียวที่มาได้คำตอบของชีวิต และชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงได้ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นการเยียวยาจิตใจอย่างแท้จริง โดยเรามีความหวังเยอะมากกับงานนี้ว่า จะสามารถช่วยให้คนที่กำลังสิ้นหวังและมีความทุกข์ในจิตใจได้หลุดพ้นออกมาจากจุดนั้นได้

อรัญญา ปันจอน (แอนนา) อายุ17 กศน.ทหารผ่านศึก กทม.

“ส่วนตัวแอนเป็นโรคซึมเศร้า ไบโพล่า และแพนิคค่ะ ก็เลยพยายามปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ๆ จนได้เห็นโพสต์ในกลุ่มของโรคซึมเศร้าเขาบอกว่ามีกิจกรรมนี้ก็เลยรู้สึกสนใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย มันเหมือนเป็นประตูที่จะปลดล็อกใจของเราค่ะ โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตใจก็ต้องรักษาด้วยใจ กินยาอาจจะช่วยได้ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ถ้าเราจิตใจเข้มแข็งก็สามารถหายได้ค่ะ มางานครั้งนี้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักคนอื่นมากขึ้น คือที่ผ่านมาเข้าใจมาตลอดว่าคนอื่นไม่เข้าใจเรา แต่กลับกลายเป็นว่าเราต่างหากที่ไม่เข้าใจคนอื่น เราไม่เคยสนใจเลยว่าคนอื่นจะคิดยังไง หรือว่าคนอื่นต้องการอะไร ก็เลยกลายเป็นว่าเราปิดกั้นคนอื่น ไม่ให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของเรา พอมางานนี้ทำให้เราได้รู้จักการถ่อมตัวลงมา ค่อยๆ ขยับหาคนอื่น ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้มากขึ้นค่ะ” 

ชนะวีร์ เพชรดำ (กันต์) อายุ 21ปี บริหารธุรกิจ การจัดการระหว่างประเทศ ม.กรุงเทพ

“มีคนทักมาในเพจ ผมสนใจด้านนี้อยู่แล้ว ตัวเองเคยเป็นซึมเศร้ามาก่อน เคยกินยา เคยคิดฆ่าตัวตาย กินยาหายจากอยากฆ่าตัวตายจริง แต่ไม่มีใครที่จะเข้าใจเราจริงๆ เลยยังไม่ปลดล็อกตัวเองจริงๆ ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ แต่พอมาอยู่ได้ 2 วัน สังคมที่นี่สุดยอด ไม่มีใครตัดสินเราในสิ่งที่เราเป็น เขาเปิดรับ ไม่ปิดกั้นตัวเอง เขาบอกว่าไม่ต้องฝืนเป็นคนดีอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็นหรอก เรามีด้านแย่ๆ ยอมรับด้านแย่ๆ ของตัวเองก่อน แต่ใครจะมายอมรับด้านแย่ของเราได้จริงไหม ทุกคนบอกให้เราเป็นคนดี พอเราได้มีรุ่นพี่มาโค้ช มาแชร์เรื่องของตัวเอง ได้เจอเพื่อนที่เป็นซึมเศร้า ได้ฟังเรื่องราวแต่คน แล้วได้รู้ว่าในความจริงเราไม่ได้โดดเดี่ยว ประทับใจการบรรยาย ที่ให้ประเมินตัวเอง เขาบอกว่าคนเราประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงตลอดเวลา เพราะถูกปลูกฝังว่าต้องดี เราเลยคิดว่าตัวเองเป็นคนดี เราคิดว่าเรามี 100 แต่ความจริงเราอาจจะมีแค่ 50 ก็ได้นะครับ แต่ที่นี่พอมีคนบอกเห็นเรา 50 เพราะเรา 50 จริงๆ เราก็รู้สึกไม่ดีไปแล้ว ทั้งๆ ที่เราคิดไปเอง ถ้าเราเห็นตัวเอง และเข้าใจตัวเองจริงๆ ยอมรับว่าตัวเอง 50 พอมีคนบอกเราแค่ 50 ก็ไม่เป็นไร เพราะมันคือตัวตนของเราจริง คุณจะไม่มีความทุกข์ หรือรู้สึกว่าโดนเหยียดหยามอีกเลย ยอมรับตัวเองก่อนว่าเราไม่ 100 เปอร์เซนต์ อย่างผมถ้ามีคนมาว่าว่าอ้วน แต่เขาไม่ได้มีเจตนาร้ายเลยนะ ผมอาจจะโกรธเขาครั้งแรก เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้อ้วน แต่ไม่ใช่ ผมอ้วนจริง เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่าอ้วนก็ถูกแล้ว”

จุลจิรา  งามวงศ์ อายุ55 จ.อุบลราชธานี

เหมือนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ให้เราได้รู้จากที่เมื่อก่อนเคยรู้แต่ว่าไม่ชัดเจน ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ที่นี่เปลี่ยนความคิดของเราได้ เรื่องบางเรื่องคนอื่นเห็นกับที่เราเห็นมันต่างกัน บางทีเราเห็นว่าตรงนี้มันถูกแต่ว่าคนอื่นมองมันไม่ใช่ มันทำให้เราเปลี่ยนความคิดได้ ทำให้เรารับฟังคนอื่นมากขึ้น เหมือนสิ่งที่เราทำไปเราเข้าข้างตัวเอง เหมือนคนอื่นเขาพูดแต่เราไม่มีใจให้เขาเราก็ฟังเสียงของเราเอง เสียงของเรามันดังก็เลยทำให้เสียงของคนอื่นมันค่อย พอมาอยู่ที่นี่ก็ทำให้คิดว่าเราควรจะฟังเสียงคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ฟังเสียงของเราฝ่ายเดียว ถ้าออกไปแล้วเราก็ต้องหัดฟังเสียงคนอื่นให้เยอะกว่า