‘IYF’ จัดงาน Healing Mind ครั้งที่ 13 เจาะลึก ‘โลกของจิตใจ’ ด้วยหลักสูตร Mind Education ด้าน ‘หน่วยงานรัฐ-เอกชน-คนทั่วไป’ ตบเท้าเข้าร่วมกว่า 300 คน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมตึกนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ได้จัดงาน Healing mind ครั้งที่ 13 เพื่อส่งเสริมการก้าวข้ามปัญหาทางใจ ด้วยการเข้าใจพื้นฐานของจิตใจอย่างแท้จริง ผ่านกิจกรรม Mindset Academy สอดแทรกทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยมุมมองที่แตกต่างและการฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงานด้วยกัน ทั้ง มหาวิทยาลัย มูลนิธิ โรงพยาบาล โรงเรียน บริษัทเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป กว่า 300 คน

โดยได้รับเกียรติจากนายสงกรานต์ สุขเกษม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวต้อนรับว่า ผมแสดงความยินดีกับ IYF ที่ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความตระหนักรู้เรื่องจิตใจให้กับหน่วยงานต่างๆ ผ่านหลักสูตร Mind Education หรือการศึกษาเรื่องโลกของจิตใจ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับคนทุกวัย นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมครั้งนี้ และหวังว่าผู้เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์ดีๆ กลับไป

ด้าน นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมงาน และขอชื่นชมที่ทาง IYF ที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ คนไทยและคนทั้งโลก กำลังเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลต่อจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายคนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจ กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการปูพื้นฐานใจ เตรียมคนให้อยู่กับตัวเองและสังคมได้อย่างมีความสุข

เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการแสดงเต้นวัฒนธรรมจากประเทศเกาหลีใต้ คือ การแสดงรำพัดที่เต็มไปด้วยความอ่อนช้อย พร้อมเพรียง และสง่างาม นำแสดงโดยนักเรียนลินคอล์นและอาสาสมัครไทยที่เคยไปอาสาสมัครต่างประเทศ เป็นการต้อนรับที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนเป็นอย่างมาก

ต่อมาเข้าสู่กิจกรรม Mindset Academy ทั้งหมด 4 กลุ่มให้เลือกเข้าร่วม ได้แก่ ซึมเศร้า ความสัมพันธ์ การเรียนการทำงาน และพฤติกรรมเสพติด โดยทั้ง 4 กิจกรรมเป็นการให้ทักษะในการจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ โดยการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงจิตใจของเราและคนรอบข้าง

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของงานคือช่วง Mind Lecture โดย ดร.อิม มิน ชอน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเรื่องโลกแห่งจิตใจนานาชาติ บรรยายตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้เจริญมาก แต่เมื่อ 70 ปีก่อน เกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่ยากลำบาก สมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน ตรงที่ความต้องการของเยาวชนเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้มีความไม่พอใจในชีวิตตัวเอง ผมจึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องความคิด และจิตใจ ผ่าน 3 ประเทศที่เปลี่ยนไปจากการยื่นมือขอความช่วยเหลือ คือ 1.ประเทศเกาหลีใต้ ขายเมล็ดกาแฟเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งๆ ที่ไม่มีเมล็ดกาแฟ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่มี แต่คนทั้งโลกชอบ จึงเรียนรู้ที่จะหาเมล็ดกาแฟ และเรียนรู้วิธีคั่วให้ดี 2. ประเทศจอร์แดน เป็นประเทศในแถบอาหรับที่ไม่มีน้ำมัน จึงขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา โดยจะตอบแทนด้วยการให้ที่ดินและไม่เก็บภาษี ทำให้มีนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้จอร์แดนกลายเป็นเหมือนนิวยอร์กแห่งที่ 2 เพราะมีการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และ 3. ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมืองที่ผู้นำคิดถึงอนาคตในวันที่ไม่มีน้ำมันดิบ จึงเขียนจดหมายให้ช่วยผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หาแผนรับมือ ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวจนกลายเป็นต้นแบบของประเทศแถบอาหรับ ตรงข้ามกับประเทศซีเรีย ประเทศที่มีน้ำมันดิบจำนวนมาก แต่กลับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะผู้นำประเทศคิดว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร จึงปิดประเทศไม่ข้องเกี่ยวกับใคร

“หมายความว่า ความคิดของคนคนหนึ่งที่เปลี่ยน จะสามารถเปลี่ยนโลกได้ ใจเราเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนได้ เราชอบบอกให้คนอื่นเปลี่ยน แต่จริงๆ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือใจเรา สติปัญญาไม่ได้อยู่ห่างจากเรา แต่สติปัญญาคือการขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันนี้ คนมากมายไม่ค่อยขอความช่วยเหลือกัน เพราะรู้สึกอาย กลัวโดนดูถูก และห่วงศักดิ์ศรี ถ้าเรารู้จักเปลี่ยนความคิด เราก็เป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ IYF ริเริ่มทำงานเพื่อเยาวชน”

การจัดงานในครั้งนี้ IYF หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้แข็งแรง ช่วยแก้ปัญหาทางด้านจิตใจ และส่งต่อจิตใจที่แข็งแรงให้ผู้อื่นต่อไป เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และสามารถรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตได้

น.ส.จิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ได้รับทราบข้อมูลจากหนังสือแจ้งเวียนของส่วนรายการ หลังจากอ่านหนังสือก็เห็นว่าน่าสนใจ เพราะงานที่เราทำเราช่วยเหลือเหยื่อ ช่วยเหลือคนที่ถูกข่มขืน ถูกกระทำชำเรา ถูกยิง ถูกแทง ถูกฆ่า และผู้ที่เกี่ยวข้อในคดีกราดยิง เช่นที่หนองบัวลำภู เราก็จะได้พบเห็นคนที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งเขาจะมีความทุกข์ใจมาก เราก็เลยสนใจในงานสัมมนาครั้งนี้

กิจกรรมวันนี้ที่ประทับใจเป็นสิ่งแรกเลยคือ เขาทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายตั้งแต่เสียงดนตรี กิจกรรมเริ่มการบรรยาย การบรรยายไม่ได้ใช้เวลานาน แต่เป็นการนำศาสตร์ของทางเกาหลีใต้มาเล่าสู่กันฟัง เราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กิจกรรมต่อไปก็เป็นส่วนที่ให้ทำแบบฝึกหัดเป็นกิจกรรมการช่วยดึงในส่วนการรับรู้ของจิตใจ มีให้ดูหนัง ดูอะไร เป็นกิจกรรมที่ดูหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ

การที่เรามาสัมมนาในวันนี้ไม่เพียงแต่เอาไปประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอย่างเดียวเวลาที่ผู้เสียหายมาติดต่อเรา หรือรับบริการจากเรา ให้เขาได้บรรเทาไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดจากสิ่งที่เขาถูกกระทำ บางคนถูกคนพ่อข่มขืน เราก็มีวิธีการที่จะเข้าไปช่วยเหลือเขา ทางใจเขาด้วย เพราะเราให้การช่วยเหลือทางกายเขาแล้ว เช่น ช่วยเหลือทางการเงิน ค่ารักษาพยาบาล หรือให้เงินไปดูแลครอบครัว ในส่วนของทางใจก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ตัวเขาเองจะได้มีใจที่แข็งแกร่ง ที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ อีกส่วนหนึ่งก็คือว่าเราสามารถนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ของเรา ส่วนใหญ่ที่ต้องดูแลคนที่ตกเป็นเหยื่อ เจ้าหน้าที่เราเองก็มีความเครียดสูง เพราะว่าเราต้องฟังคนที่มีความทุกข์ยาก อ่านสำนวนคนที่โดนกระทำ เราก็สามารถนำไปใช้กับเจ้าหน้าที่ของเราได้ด้วยในการที่จะหาวิธีการช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจให้น้องๆ เขา ที่จะสามารถมีจิตใจที่เข้มแข็ง จิตใจที่จะมองแต่สิ่งดีๆ อย่าอินกับเรื่องราว และเขาก็สามารถทำงานกับประเทศชาติได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะว่าใจก็สำคัญเหมือนกาย ถ้าใจดี กายก็ดีตาม

นายภานุวัฒน์ นิลศรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น
ได้ข่าวงานครั้งนี้จากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่สถานศึกษาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น แนะนำและก็อยากให้มาเรียนรู้ ผมเลยตัดสินใจมา เพราะว่ามีนักเรียนนักศึกษามีปัญหาเรื่องเสพติดค่อนข้างเยอะ เลยสนใจมาเรียนรู้ว่ามีการจัดกิจกรรมแบบไหนเพื่อเอาไปใช้กับนักศึกษาเรา

หลังจากที่เข้ามาร่วมงานและเข้ากิจกรรมสิ่งเสพติด คิดว่าน่าจะเข้าจะนักศึกษาได้และนำไปใช้ในวิทยาลัยได้

กิจกรรมที่ประทับใจที่สุดคือกิจกรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติดเพราะว่านักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยเนี่ยจะเสพติดเกม เสพติดยาเสพติดมาก ก็เกิดปัญหามาก พอมาฟังวิทยากร เขามีวิธีทำให้เรารู้ตัวว่าเราเสพติดอะไร กิจกรรมเนี่ยที่สนใจ น่าจะเอาไปใช้กับนักศึกษาได้ เขาน่าจะได้รู้ว่าเขาเสพติดจริงไหม หรือตอนนี้เขากำลังเป็นแบบไหน คิดว่ามีประโยชน์เยอะ ซึ่งสามารถเอาไปปรับใช้ในการเรียนการสอนและใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้ด้วย ในการทำงาน อย่างเช่นมือถือ ว่าเราใช้มือถือเกินความจำเป็นไหม จนเราเสพติดจริงไหม เอาหลักการที่คุยในวันนี้ไปวิเคราะห์กับตัวเอง น่าจะมีประโยชน์ในการทำงาน น่าจะมีประโยชน์ในการสอนนักเรียนนักศึกษาได้