“ผมคิดไว้แล้วว่าเลโซโทต้องเป็นประเทศที่ยากลำบากมาก ๆ เพราะอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมตื่นเต้น คือ ประเทศนี้มีหิมะด้วยนะ ถ้าอดอยากมาก ๆ ในฤดูหนาว อาจจะต้องเอาหิมะมาต้มเพื่อให้ได้น้ำดื่มหรือเปล่า หรือว่าจะแห้งแล้งเกือบทั้งปีจนต้องเอากระบองเพชรมาทำอาหาร ผมเตรียมใจไว้ขนาดนั้นเลยครับ เป็นการเตรียมใจแต่ไม่เตรียมข้อมูล ผมไม่เคยรู้จักประเทศนี้มาก่อน ความคิดนี้ก็เลยเกิดขึ้นจากจินตนาการล้วน ๆ ”

เลโซโท แอฟริกา

                คำบอกเล่าที่ยังเต็มไปด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเหมือนการเดินทางครั้งนี้พึ่งเกิดขึ้นเมื่อวานของเก๊ะ หรือนายนพ คงเมือง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาภูมิสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่เข้าร่วมโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) โดยเดินทางไปประจำอยู่ที่ประเทศเลโซโทเป็นเวลา 9 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2561 – มิถุนายน 2562

                ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ เก๊ะเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทั้งที่พึ่งเข้าเรียนได้เพียง 1 เทอมเท่านั้น เขาก็รู้ว่าเขาคงเรียนไม่จบแน่ ๆ เพราะเขาติดเกมอย่างหนัก เล่นเกมได้ทั้งวัน พอถึงตอนเย็นก็ไปทำงานพิเศษในร้านเหล้า ใช้ชีวิตใน 1 วันแบบไม่ได้สนใจเรื่องเรียนเลย เมื่อเห็นว่าเป็นแบบนี้ต่อไปต้องแย่แน่ ๆ เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

                เลโซโทเป็นประเทศเล็ก ๆ มีพื้นที่ทั้งหมด 30,355 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยภูเขาและเทือกเขา ทำให้อากาศเย็นตลอดทั้งปี นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติของที่นั่นเองก็อุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่กันอย่างเรียบง่าย และไม่ได้อดอยาก ทั้งหมดนี้จึงตรงข้ามกับสิ่งที่เก๊ะจินตนาการไว้มากทีเดียว

                ที่นั่นมีศูนย์ไอวายเอฟเพียงแห่งเดียว คือ ที่กรุงมาเซลู (Maseru) เมืองหลวงของประเทศ นอกจากเก๊ะแล้ว ยังมีอาสาสมัครจากหลากหลายประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ จีน อินเดีย ไต้หวัน และอาสาสมัครท้องถิ่นเลโซโท รวมทั้งสิ้น 20 คน

                เก๊ะเดินทางไปพร้อมเพื่อนคนไทยอีก 1 คน แต่ภารกิจแรกที่ได้รับ คือ การแยกจากเพื่อนคนไทย เมื่อสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าทุกครั้งที่ต้องทำภารกิจแบบกลุ่ม พวกเขาจะถูกจัดกลุ่มโดยคนที่มาจากประเทศเดียวกันจะต้องแยกจากกันเสมอ เพราะอาจารย์อยากให้พัฒนาภาษาอังกฤษให้เร็วที่สุดนั่นเอง

                ไอวายเอฟได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้จัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมและห้องเรียนโลกของจิตใจ (Mindset Education Class) ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมทหาร ตำรวจ หรือแม้กระทั่งในรัฐสภาก็มีการเรียนเรื่องโลกของจิตใจเช่นกัน

                ในช่วงที่ยังสื่อสารไม่คล่องนัก เก๊ะต้องเตรียมการแสดงเต้นวัฒนธรรม แต่ปัญหาคือ เขาเป็นคนที่ไม่มีดนตรีในหัวใจเอาเสียเลย แค่ปรบมือให้เข้ากับจังหวะเพลงยังทำไม่ถูก แต่ก็ต้องซ้อมเต้นทุกวัน จนทะเลาะกับเพื่อนที่สอนเต้นบ่อย ๆ เพราะเหตุนี้เองทำให้เขาต้องไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ทุกวัน ซึ่งคำหนึ่งที่เขายังจำได้ทุกวันนี้คือ “คนที่เปลี่ยนแปลงได้ คือ คนที่เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง” นั่นหมายถึง ถ้าเขายอมรับก่อนว่าตัวเองมีข้อบกพร่องตรงไหน ก็จะเรียนรู้จากคนอื่นได้ ที่เขาทะเลาะกับเพื่อนทุกวัน ไม่ใช่เพราะเต้นไม่ได้ แต่เพราะเขาไม่ได้เห็นว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนจึงไม่อยากจะเรียนจากเพื่อนนั่นเอง

                หลังจากนั้นเก๊ะก็ได้รับการฝึกให้เป็นผู้นำในห้องเรียนโลกของจิตใจ ทุกวันเขาต้องออกไปพูดคุยกับชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง คู่มือการสอนของเขามีเพียงหนังสือและปากกาเท่านั้น เมื่อคุยกันไม่เข้าใจ เขาจะใช้วิธีวาดภาพแทน เก๊ะทำอย่างนี้ทุกวันจนมีความมั่นใจในการสื่อสารมากขึ้น เขากล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น แม้จะพูดผิดไปบ้าง แต่ก็มีคนคอยช่วยแก้ไขให้เสมอ การได้อยู่ร่วมกับคนท้องถิ่นเองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าหาคนอื่นได้ง่าย เพราะคนเลโซโทค่อนข้างเป็นมิตรกับคนต่างชาติ พวกเขามักจะกล่าวทักทายคนอื่นก่อนเสมอ แม้ว่าจะไม่รู้จักกันมาก่อน หรือเป็นแค่คนที่เดินสวนกันก็ตาม

                ไม่ใช่แค่การออกไปจัดกิจกรรมข้างนอกเท่านั้น ทุกวันเสาร์ที่ศูนย์จะมีกิจกรรมพิเศษที่คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ฟรี หนุ่มไทยของเราก็มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ถนัดเสียที นั่นคือ การสอนภาษาไทย แต่เมื่อถึงเวลาสอนจริงก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการสอนภาษาไทยด้วยภาษาอังกฤษนั้นซับซ้อนมาก ในช่วงแรกจึงสอนค่อนข้างยาก เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี อย่างไรก็ตาม คลาสภาษาไทยก็ยังเป็นที่สนใจและมีนักเรียนผลัดเปลี่ยนกันมาเรียนอยู่เสมอ

                ผ่านไปสักพักเก๊ะก็ได้รับภารกิจที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ เขาต้องไปจัดกิจกรรมในต่างจังหวัด โดยที่ต้องเดินทางกันเองแบบไม่มีเงิน ครั้งแรกเก๊ะกับเพื่อนอีก 2 คน ต้องไปที่เมืองกาจาสเน็ก (Qachas nek) เพราะเป็นการเดินทางเองครั้งแรก พวกเขาจึงถามทางจากชาวบ้านและขอติดรถคนอื่นไปเรื่อย ๆ กว่าจะไปถึงปลายทางก็ใช้เวลาถึง 1 วัน 1 คืนเลยทีเดียว

                แม้ว่าจะเริ่มต้นครั้งแรกอย่างทุลักทุเล แต่เก๊ะก็ได้ออกเดินทางแบบนี้เรื่อย ๆ ในระยะเวลา 9 เดือน เขาต้องออกเดินทางแบบไม่ใช้เงินถึง 4 ครั้ง เรียกได้ว่าเดินทางทั่วประเทศเลยทีเดียว เพราะเป็นคนที่ออกเดินทางบ่อยที่สุด เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ากลุ่มเสมอ ในแต่ละวันเขาก็เริ่มใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคิดว่าน่าจะปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้สบาย ๆ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อวันหนึ่งเขาอยากจะเข้าห้องน้ำระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด ปกติแล้วบ้านที่อยู่ในเขตเมืองก็จะมีห้องน้ำในตัวบ้าน แต่บ้านที่อยู่ต่างจังหวัดนั้น ห้องน้ำจะแยกออกมาต่างหากและเป็นส้วมแบบหลุม ไม่มีน้ำราด ต้องใช้ทิชชู่ทำความสะอาดเท่านั้น หลังจากทำธุระหนักเสร็จเรียบร้อย ตอนที่หยิบทิชชู่ออกมาจากกระเป๋า เขาก็ทำม้วนทิชชู่หลุดมือ แต่มืออีกข้างยังจับปลายทิชชู่ไว้อยู่ ด้วยความที่พยายามจะดึงทิชชู่กลับมาใช้ จึงไม่ได้สังเกตว่าม้วนทิชชู่ได้ตกลงไปในส้วมแล้ว กว่าจะรู้ตัวก็มือเลอะเสียแล้ว เป็นประสบการณ์เศร้าปนขำที่ลืมไม่ลงเลยทีเดียว

                เวลา 9 เดือนในเลโซโทผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครั้งแรกที่ต้องซ้อมเต้นและทะเลาะกับเพื่อนทุกวัน เก๊ะก็ถอดใจและอยากจะกลับบ้านตั้งแต่สัปดาห์แรกด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่าเขาเต้นก็ไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ รู้สึกว่าตัวองไม่มีประโยชน์ ช่วยอะไรใครไม่ได้ แต่อาจารย์กลับบอกว่าดีแล้วที่เขารู้ตัวได้เร็วขนาดนี้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาสามารถเรียนรู้ข้อบกพร่องของตัวเองได้เรื่อย ๆ และเรียนรู้จากคนอื่นได้เรื่อย ๆ

                “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่นั่นมันเยอะมากครับ เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ามาก ถ้าไม่เคยไปที่นั่น ตอนนี้ผมก็คงยังนั่งเล่นเกมอยู่ หรือหนีเรียนไปทำอะไรสักอย่าง หลังจากกลับมา ผมก็เกือบจะกลับไปติดเกมอีกครั้ง แต่หลังจากเล่นเกมเสร็จผมก็มานั่งคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ มันคิดถึงชีวิตที่เลโซโทครับ และผมก็อยากใช้ชีวิตแบบนั้นอีกครั้ง ตอนนี้ผมใช้เวลาช่วงปิดเทอมเป็นอาสาสมัครอยู่ประจำศูนย์ไอวายเอฟ จังหวัดตาก มีโอกาสได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ ได้แลกเปลี่ยนจิตใจกัน ได้เปิดห้องเรียนโลกของจิตใจอีกครั้ง ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากครับ”