ถ้าพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ หลายคนอาจจะนึกถึงการท่องเที่ยว เพลง หรือภาพยนตร์ และถ้าจะไปที่นั่นก็คงไปในฐานะนักท่องเที่ยวเสียมากกว่า แต่น้องบี หรือนางสาวสุจิตตรา อาจนคร บัณฑิตจากคณะผลิตกรรมการเกษตร สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เลือกเดินทางไปในฐานะอาสาสมัครกับโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) โดยเข้าร่วมโครงการถึง 7 เดือน ตั้งแต่ กรกฎาคม 2562 – มีนาคม 2563

                หลังจากเรียนจบบีได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ถึงแม้จะมีความมั่นใจในศักยภาพด้านการเรียนของตนเองอย่างเต็มที่ แต่การเรียนปริญญาโทนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด บีจึงตัดสินใจยุติการเรียนและถอยมาตั้งหลักเสียก่อน ในช่วงที่กำลังสับสนว่าชีวิตจะไปทางไหนต่อดี บีก็ได้รับการแนะนำให้เข้าร่วมโครงการนี้ ในครั้งแรกบีอยากเดินทางไปแอฟริกา เพราะรู้มาว่าที่นั่นมีการเกษตรที่กำลังฟื้นฟู จึงอยากรู้ว่าเขาพัฒนากันอย่างไร แต่อาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการแนะนำว่า ถ้าอยากศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมการเกษตรก็ไปที่เกาหลีใต้ก็ได้ เพราะที่นั่นก็ทำการเกษตรเหมือนกัน และยังได้เรียนรู้ภาษาเกาหลีด้วย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างแน่นอน

                บีเดินทางไปเกาหลีใต้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน โดยไปประจำอยู่ที่แทกู (Daegu) เมืองในเขตภาคใต้ ที่แทกูนั้นอากาศจะร้อนเป็นพิเศษจนคนเกาหลีถึงขั้นให้ฉายาเมืองนี้ว่า “แทฟริกา” ซึ่งมาจากคำว่า แอฟริการวมกับแทกูเลยทีเดียว เมื่อเดินทางไปถึง บีถึงกับสงสัยว่าตัวเองมาถึงเกาหลีใต้แล้วจริง ๆ หรือเปล่า เพราะคิดว่าอากาศจะหนาวเย็นตลอดทั้งปีเสียอีก

                นอกจากบีแล้ว ยังมีเพื่อน ๆ อาสาสมัครชาวไทย แม็กซิโก และคอสตาริกา รวมทั้งสิ้น 8 คน ศูนย์ไอวายเอฟที่แทกูค่อนข้างใหญ่ เพราะมีโรงเรียนมัธยมอยู่ในความดูแลด้วย เหล่าอาสาสมัครจึงมีกิจกรรมให้เข้าร่วมตลอดทั้งปี ทั้งแคมป์เด็ก แคมป์เยาวชน แคมป์ภาษา ชมรมในมหาวิทยาลัย งานเทศกาลประจำปี งานอาสาสมัครเพื่อคนในท้องถิ่น หรือแม้แต่กิจกรรมทัศนศึกษาในต่างจังหวัด เรียกได้ว่าแทบไม่มีวันว่างกันเลยทีเดียว

                วันแรกที่ไปถึงแทกูก็มีภารกิจรออยู่แล้ว นั่นคือ แคมป์ภาษาอังกฤษ ที่จัดถึง 5 วัน 4 คืน โดยบีได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยในห้องครัวที่ต้องเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และล้างจาน ตอนแรกที่ได้รับหน้าที่นั้นก็คิดว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะงานในครัวต้องสื่อสารกันตลอดเวลา การทำอาหารสำหรับคนจำนวนมากก็ต้องแข่งกับเวลาด้วย เมื่อสื่อสารกันไม่เข้าใจ ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ทีเดียว แต่เหล่าแม่ครัวก็ไม่ย่อท้อ แม้จะพูดคุยกันไม่เข้าใจ พวกเขาก็แสดงวิธีทำให้ดู จนงานในห้องครัวครั้งแรกของบีผ่านไปได้ด้วยดี

                ต่อมาบีได้เดินทางไปที่เมืองซูซองเพื่อจัดแคมป์เด็ก โดยครั้งนี้บีรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูประจำกลุ่มที่ต้องดูแลและร่วมกิจกรรมกับเด็ก ๆ ตลอดงาน นอกจากนี้บีและเพื่อน ๆ อาสาสมัครจากประเทศไทยยังต้องจัดการแสดงพิเศษบนเวทีด้วย โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียง 1 วันเท่านั้น พวกเขาจึงเลือกการแสดงเต้นที่เคยเรียนร่วมกันที่ประเทศไทย ถึงแม้ผู้ชมจะเป็นเพียงเด็กประถม แต่พวกเขาก็อยากจะทำการแสดงให้ดีที่สุด จึงใช้เวลาว่างทั้งหมดในการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่แล้วก็เกิดเรื่องผิดพลาดขึ้น นั่นคือ พวกเขาตั้งหน้าตั้งตาซ้อมจนเลยเวลาขึ้นแสดง ทำให้กำหนดการทั้งหมดบนเวทีล่าช้าออกไป และเด็ก ๆ ก็ต้องเข้านอนช้ากว่ากำหนดด้วย

                หลังจบการแสดงพวกเขาจึงถูกอาจารย์อบรมเสียยกใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาเวลาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคนเกาหลี คนเกาหลีทำอะไรก็จะทำเร็ว ๆ ตรงข้ามกับพวกเขาที่ช้าทุกอย่าง แม้กระทั่งกินข้าว ล้างจาน หรือเปลี่ยนชุด สำหรับพวกเขาอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเร็วกว่านี้อีกนิด ก็จะมีเวลาให้ทำอย่างอื่นมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้จิตใจในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพราะอาจารย์สังเกตเห็นว่าพวกเขามักจะทำงานตามที่อาจารย์บอกเท่านั้น แต่ไม่ได้มีจิตใจที่อยากจะเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ทำ หรือมีความสุขกับงานที่ได้ทำเลย บีบอกกับทีมงานของเราว่า “พออาจารย์พูดอย่างนี้หนูก็ลองมองมาที่ตัวเองค่ะ แล้วก็เห็นว่าอาจารย์พูดถูกต้องทุกอย่าง ถ้ามีคนบอกให้เต้น หนูก็เต้น แต่ใช้แค่ร่างกายนะคะ ในใจไม่ได้อยากทำ ก็เลยทำแค่ให้ผ่าน ๆ ไป ไม่ได้เรียนรู้อะไรทั้งนั้น” เมื่อเห็นจุดบกพร่องของตัวเองแล้ว บีจึงเปลี่ยนใจใหม่ ลองใส่ใจกับสิ่งที่ทำมากขึ้น ตอนนั้นบีได้สังเกตเห็นอีกว่า เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมแคมป์นั้น ทั้งตั้งใจและเต็มที่กับทุกกิจกรรม แม้กระทั่งตอนที่บีสอนร้องเพลงภาษาไทย เด็ก ๆ ก็ยังตั้งใจร้องตามอย่างสนุกสนาน สำหรับบีแล้ว แคมป์นี้อาจจะเริ่มต้นด้วยความทุลักทุเล แต่ก็เป็นอีกบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้บีเห็นจุดบกพร่องของตัวเองครั้งแรก ได้ปรับปรุงตัวเองใหม่ และได้สนุกกับทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย

                หลังจากอยู่ที่เกาหลีใต้ได้ 6 เดือน ก็ถึงเวลาจัดกิจกรรมที่สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ “เทศกาลอาสาสมัครนานาชาติ หรือ Good News Corps Festival” กิจกรรมดังกล่าวคือ เทศกาลของเหล่าอาสาสมัครชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางไปทำงานอาสาที่ต่างประเทศแล้วเพิ่งกลับมา พวกเขาจะมารวมตัวกันเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศที่ตนไปใช้ชีวิตอาสาสมัคร จะมีการจัดคอนเสิร์ต การแสดงเต้นวัฒนธรรม ละครเวที และละครเพลง ซึ่งงานนี้จะเป็นนักศึกษาอาสาสมัครทำ 100% ตั้งแต่ออกแบบโปสเตอร์ ประชาสัมพันธ์ เตรียมงาน ตัดเสื้อผ้าใหม่ ออกแบบท่าเต้น จัดแสง-เสียงบนเวทีและตัดต่อภาพ โดยจะมีเหล่าอาจารย์ของมูลนิธิฯ คอยให้คำแนะนำและสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งปีนี้มีความพิเศษและมีความหมายกับเหล่าอาสาสมัครชาวไทยมาก เพราะมีการแสดงเต้นวัฒนธรรมของประเทศไทยด้วย

                แต่ถึงแม้จะเป็นคนไทย บีก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมทีมเต้นวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใด การจัดงานครั้งนี้ เหล่าอาสาสมัครจะต้องเตรียมตัวกันนานถึง 1 เดือน โดยที่ทุกคนมีสิทธิเลือกเข้าร่วมทีมที่ตนเองสนใจ หากเป็นทีมการแสดง ต้องผ่านการคัดเลือกอีกครั้ง ถึงจะเข้าร่วมทีมได้ ซึ่งบีถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมทีมแสดงละครเวที โดยรับบทเป็นนักเรียนชาวโดมินิกา ถึงแม้จะเข้าร่วมเพียงแค่ฉากเดียว แต่ก็ต้องซ้อมจนนับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว

                ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งในการทำกิจกรรมครั้งนี้ คือ สมาชิกในทีมทุกคน จะต้องใช้เวลาร่วมกันให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ตอนซ้อมการแสดง แต่ยังรวมถึงตอนกินข้าว หรือทำความสะอาดด้วย ในช่วงเวลานั้นเองที่บีได้เห็นความเป็นผู้นำของคนเกาหลี แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะยังเป็นนักศึกษา และเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในฐานะอาสาสมัคร แต่ทุกคนก็ตั้งใจกับงานนี้มาก ๆ พวกเขาแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แล้วยังแบ่งเวลาอย่างชัดเจน เวลาที่พักผ่อนก็พักผ่อนกันเต็มที่ เวลาที่ต้องซ้อมก็ซ้อมอย่างเต็มที่เช่นกัน

บีกล่าวถึงเพื่อน ๆ ในทีมว่า “ถึงแม้จะเป็นนักศึกษาอยู่ แต่ความคิดของพวกเขาเหมือนผู้ใหญ่เลยค่ะ หนูเองก็อยากจะเป็นเหมือนพวกเขาบ้าง”   

                เทศกาลอาสาสมัครนานาชาติครั้งนี้มีกำหนดการจัดการแสดงถึง 28 รอบ ใน 14 เมือง ทั่วประเทศเกาหลี หลังจากการเตรียมตัวอันยาวนาน เหล่าอาสาสมัครก็เริ่มจัดการแสดงครั้งแรกขึ้นที่เมืองชอนอัน ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขึ้นทั่วประเทศ ทำให้การแสดงทั้งหมดถูกยกเลิก และพวกเขาต้องแยกย้ายกันกลับบ้าน ถึงแม้จะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้จัดการแสดงอย่างที่หวังไว้ แต่พวกเขาก็ถือว่าได้ใช้เวลา 1 เดือนในการเตรียมงานอย่างคุ้มค่า และประสบการณ์การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ก็ไม่ได้เสียเปล่าเลย

                ช่วงเวลา 7 เดือนในเกาหลีผ่านไปอย่างรวดเร็ว กิจกรรมที่มากมายเปิดโอกาสให้บีได้เรียนรู้และเห็นมุมมองใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต และเติบโตขึ้นอย่างไม่รู้ตัว การออกเดินทางครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว
                “ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ หนูเป็นคนที่กลัวชีวิตภายนอกมาก ๆ ไม่เคยมั่นใจว่าตัวเองจะเผชิญหน้ากับปัญหาในอนาคตได้ไหม เพราะที่ผ่านมาก็ตั้งใจเรียนอย่างเดียว และเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเท่านั้น แต่ตอนที่ใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครที่นั่นได้มีโอกาสหักห้ามจิตใจตัวเอง แล้วก้าวออกไปทำสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ รวมทั้งได้เรียนรู้จากคนเกาหลีที่จริงจังกับทุกเรื่อง ถ้าทำอะไรไม่ได้ เขาก็จะฝึกเรื่อย ๆ จนสำเร็จ เมื่อก่อนหนูชอบที่รอเวลาและคิดว่าไม่เป็นไร รอให้พร้อมก่อนค่อยทำ จนบางครั้งโอกาสก็หลุดลอยไป ในตอนแรกหนูรู้สึกเสียดายที่เกิดโรคระบาดขึ้นทำให้หนูต้องกลับประเทศไทยก่อนกำหนด แต่พอมองย้อนไปดูอีกครั้งก็รู้สึกว่าเหตุการณ์นี้เองก็เป็นบทเรียนให้เช่นกันว่าอย่ารอเวลา ปัญหาที่เราไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ถ้าเราใช้เวลาในแต่ละวันอย่างเต็มที่แล้ว จะไม่มีอะไรที่เรารู้สึกเสียดาย และไม่มีอะไรต้องกลัวเลย ทุกอย่างเป็นบทเรียนให้เราได้ แล้วเราก็จะเติบโตขึ้นด้วย”