เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ได้จัดกิจกรรมเยียวยาจิตใจ (Healing Mind) ครั้งที่ 12 สำหรับบุคลากรภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และเยาวชน เพื่อเรียนรู้ความสำคัญของพื้นฐานจิตใจ และเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ การออกจากสภาวะซึมเศร้า รวมทั้งพัฒนาทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะด้านความสัมพันธ์ภายในองค์กร และการสื่อสารกับคนรอบข้าง ภายใต้แนวคิด “โรคทางใจ ต้องใช้ใจเยียวยา” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน 

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

โดยได้รับเกียรติจากนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวแสดงความยินดีว่า ขอแสดงความยินดีกับมูลนิธิฯ​ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง ในโลกใบนี้ทุกคนต้องเจอกับการมีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ไม่มีใครอยู่ยั้งยืนยง ทุกคนต้องมีสุข มีทุกข์ เพราะเรามีจิตใจของปุถุชน แต่สิ่งที่จะทำให้ผ่านความทุกข์มาได้ คือ ความอดทน หมายความว่า อดในสิ่งที่ชอบ และทนในสิ่งที่ชัง เพราะบางครั้งต้องทำงานกับคนที่ไม่ชอบ ถ้าทำได้ทุกอย่างก็จะผ่านไป เหมือนจุดประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ที่เน้นเรื่องการพัฒนาจิตใจ และการมีภูมิคุ้มกันจิตใจ ตนจึงขอให้ทุกคนที่เข้าร่วมได้รับประโยชน์เพื่อนำไปพัฒนาจิตใจให้แข็งแรง พร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต และนำไปแนะนำคนอื่นต่อได้

น.ส.อุไร เล็กน้อย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ด้าน น.ส.อุไร เล็กน้อย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กระทรวง พม. มีภารกิจเรื่องการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาค การส่งเสริมความมั่นคงให้ชีวิต และชุมชน ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นส่งผลต่อจิตใจของผู้คน เราขอชื่นชมมูลนิธิฯ ที่มาเป็นส่วนเสริมการทำงานให้ภาครัฐ งานครั้งนี้เริ่มจากการศึกษาเรื่องการเยียวยาจิตใจ และจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 12 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้ต่อสู้กับปัญหา และเป็นสิ่งที่ดีกับผู้เข้าร่วม เพราะปัญหาสังคมรุนแรงมาก หากมีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เราจะสามารถต่อสู้กับปัญหา และเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้อยู่ในสังคมดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข การทำงานของทางมูลนิธิฯ จะทำให้เรามีความรู้ และทักษะในการปกครองจิตใจอย่างเข้มแข็ง

นายภูมิ์พงษ์ ขุนฉนมฉ่ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

ขณะที่ นายภูมิ์พงษ์ ขุนฉนมฉ่ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กิจกรรม Healing Mind นี้ดำเนินการครบมาถึง 12 ครั้ง และยังได้เผยแพร่หลักสูตรการศึกษาเรื่องโลกของจิตใจ ที่นำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก เป็นการช่วยเสริมจุดแข็ง และช่วยแก้ไขจุดอ่อน ทั้งนี้ เมื่อเราตั้งต้นอย่างถูกต้อง และสมเหตุสมผล จะทำให้เราสามารถตัดสินใจอย่างเหมาะสม จึงคาดว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเยาวชน และคนทั่วไป ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ถือเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยต่อไปได้ในอนาคต

จากนั้นเป็นการแสดงเต้นวัฒนธรรมจากยูเครน นำเสนอเอกลักษณ์ และวัฒนธรรม ที่มีความสนุกสนาน  ความพร้อมเพรียง และความสดใส สร้างความประทับใจ และเรียกเสียงปรบมือจนกึกก้องห้องประชุม

ต่อมาเป็นกิจกรรม Mindset Academy เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของจิตใจที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทั้งยังสามารถคิดและวิเคราะห์ความคิดเพื่อออกจากอาการซึมเศร้าได้ เพราะโดยปกติคนเราจะเชื่อ ตามสถานการณ์ อารมณ์ความรู้สึก และความคิดแรก เราจึงมุ่งเน้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการไตร่ตรองความคิด

ผู้เข้าร่วมได้เล่นเกมส์ที่ชื่อว่า what is this? ที่ต้องทายภาพปริศนา ซึ่งคล้ายว่าจะเป็นสิ่งที่เราคิดแต่ในตอนเฉลยจะหักมุมเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดย Mindset ของเกมส์นี้จะสื่อให้เห็นถึงการคิดระดับที่สอง อย่าเชื่อกับสิ่งที่  คิดในครั้งแรก ให้ลองไตร่ตรองดูอีกครั้ง

ในกิจกรรมสุดท้ายมีชื่อว่า กิจกรรม ทิ้ง vs ไม่ทิ้ง โดยจะให้ผู้เข้าร่วมลองเขียนความคิดทั้งหมดที่มีอยู่ลงกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่อยู่ในอารมณ์ที่มีความสุขหรือเศร้าที่กำลังสับสนอยู่ตอนนี้ พร้อมกับยกตัวอย่างสถานการณ์ หรือเรื่องที่กังวลใจหรือมีปัญหาอยู่ตอนนี้มาหนึ่งเหตุการณ์ แล้วให้ผู้เข้าร่วมคิดต่อว่า หากเราติดตามความคิดลบในเรื่องนี้ต่อไปจะส่งผลอย่างไรในอนาคตข้างหน้า

กิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเห็นถึงความสำคัญในพลังของความคิด ที่หากขาดการไตร่ตรองและการแยกแยะ จะเป็นสิ่งที่น่ากลัว ทำให้เราเชื่อและวางใจในตนเองโดยไม่ต้องคิดซ้ำสอง เราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกคิดในครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม ไม่เชื่อกับอารมณ์หรือความรู้สึกที่เรามี

ในช่วงของคำพยานของผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง น.ส.ศุภลักษณ์ ศรีวิรักษ์ อายุ 27 ปี กล่าวว่า ฉันใช้ชีวิตอยู่กับแม่แค่สองคน จึงต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก มีความคิดว่าอยากจะเรียนเก่ง ได้รับความรัก และการยอมรับ สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้า และพยายามฆ่าตัวตาย วันหนึ่งได้พบกับโครงการ Healing Mind ครั้งที่ 1 และได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องจิตใจของโครงการ จึงได้รู้ว่าสิ่งที่ฉันต้องการนั้นเป็นเพียงการรักตัวเอง และเป็นความคิดที่ผิด อาจารย์ได้ถามว่า ในชีวิตของฉันต้องการแค่การยอมรับ หรือคำชมเท่านั้นจริงหรือ เมื่อได้พูดคุยเรื่องของจิตใจก็ทำให้ฉันได้เห็นตัวเอง และหายขาดจากโรคซึมเศร้าได้ ฉันจึงหวังว่าเรื่องราวที่ได้แบ่งปันในวันนี้จะเป็นจุดประกายเล็กๆ ให้คนที่จมอยู่ในความเศร้า ได้มีความหวังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนช่วง Mind Talk (Private Consult) เป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Healing Mind มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในจิตใจ และทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองมากขึ้น ผ่านทางการพูดคุย และฟังประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ ผู้เข้าร่วมได้เปิดจิตใจและพูดคุยสิ่งที่อยู่ในใจออกมา และมีความหวังว่าสามารถที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และหลุดพ้นจากปัญหาที่พบเจอได้เช่นกัน การพูดคุยโดยเริ่มจากการเปิดจิตใจ จะสามารถทำให้คนนั้นค่อยๆ ออกจากความทุกข์ ความเศร้า และความสิ้นหวังได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้เปิดจิตใจตัวเองออกมา เพื่อแก้ไขปัญหา และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้