“แฟ้ม” สรรพวัต พัดทอง เด็กที่จบ ปวช. มาด้วยความว่างเปล่า ถูกบูลลี่มาตั้งแต่เด็กทำให้ผมเป็นคนเก็บตัวและไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ไม่รู้ด้วยว่าจะไปไหนต่อกับชีวิตที่ไม่มีความฝัน ผมจึงต้องการค้นหาตัวเอง และพบกับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) ที่จะได้ไปใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นในต่างประเทศ และตอนนั้นได้เลือกที่จะไปประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ด้วยความคิดที่ว่า เป็นประเทศที่ มีความแตกต่างจากประเทศไทยและ คิดว่าประเทศนี้ จะทำให้ผมพัฒนาตัวเองและสามารถที่จะหาตัวเองพบว่าผมควรทำอะไรต่อไป

การเรียนรู้ครั้งใหม่

                ผมได้ไปประจำอยู่ที่ Arusha หนึ่งในจังหวัดของประเทศแทนซาเนีย เมื่อผมไปถึงผมได้พบกับเพื่อนหลายประเทศ ทั้ง เกาหลี กัมพูชา จีน และคนแทนซาเนีย ผมได้พบกับสิ่งใหม่ๆโดยที่ผมนั้นไม่เคยได้พบมาก่อน จากที่เมื่อก่อนนั้นผมไม่กล้าที่จะคุยกับคนอื่นและต้องอยู่กับคนที่ไม่รู้จักเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของชีวิต ผมมีปัญหาทั้งการปรับตัวเข้าหากับคนอื่นค่อนข้างยากและปัญหาด้านภาษาที่ต้องคุยกันเป็นภาษาอังกฤษซึ่งผมไม่ถนัดนัก แต่เมื่อผมไปสอนเด็กๆถึงตอนนั้นจะพูดค่อยไม่รู้เรื่อง แต่เด็กก็สนุกกับคลาสเรียนนั้น ถึงตอนนั้นจะเป็นครั้งแรกที่ต้องเรียนและต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่ก็นับได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากๆ

“จิตใจ” ที่เรียนรู้จากคนแทนซาเนีย

                หลังจากที่ได้อาศัยอยู่ที่แทนซาเนียมาสักพักหนึ่ง ได้รู้ว่าสังคมแทนซาเนียเป็นสังคมที่เป็นมิตร เพราะว่าทุกคนที่เราเดินผ่านกันบนถนน ไม่ว่าเราจะรู้จักกันหรือไม่แต่จะทักทายกันตลอดเวลา ถึงแม้จะแค่เดินผ่านมาเจอหน้ากันครั้งแรก ซึ่งอย่างที่ผมบอกไปนั้นผมเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะแสดงออกทางสังคม แต่ที่นี้กลับมีความเป็นกันเองกับคนอื่น แม้ว่าเราจะไม่เคยเจอกันมาก่อนและสามารถที่จะคุยกันได้อย่างสนิทสนม ทำให้ผมได้เรียนรู้ที่จะออกจากโลกของตัวเองและความกลัวไปสู่อยู่ในโลกของคนอื่นบ้าง

ต่อให้ไม่มีเงินแต่ก็รู้จักคำว่า “ให้”

                ตอนนั้นผมได้ไปเยี่ยมบ้านของเพื่อนชาวแทนซาเนีย ตอนนั้นที่ได้เข้าไปในบ้าน สภาพของบ้านนั้นเป็นบ้านปูนที่ดูไม่มีอะไรเลย ประตูก็ไม่มี แม้แต่หน้าต่างก็ไม่มี ถึงแม้จะเป็นแบบนั้น แต่เขาได้เตรียมอาหารอย่างดีให้ผม ได้เห็นว่าถึงแม้ที่บ้านของผมนั้นจะมีฐานะ และมีอาหารที่ดีมากมายแต่ไม่เคยรู้สึกว่าของพวกนี้นั้นมีคุณค่าอะไรเลย ส่วนอาหารของเพื่อนที่เอามาให้แม้จะไม่ได้ดีเท่ากับตอนที่ผมอยู่ที่ไทยแต่กลับเป็นอาหารที่มีคุณค่ามากกว่านั้นมาก ผมได้เรียนรู้จากคนที่นั้นอย่างมาก ถึงแม้ว่าผมจะไปเป็นอาสาสมัครที่นั้นแต่กลับได้เรียนรู้ “จิตใจที่จะให้” จากคนแอฟริกามากกว่า

แอฟริกาช่วยให้ผมนั้นรู้จัก “ขอบคุณ”

                ที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตอย่างสุขสบายที่ประเทศไทยเพราะว่าที่บ้านของผมนั้นมีฐานะในระดับนึงทำให้ชีวิตของผมไม่เคยขัดสนอะไรมากมาย อยากได้อะไรก็ได้หรืออยากกินอะไรก็กิน เมื่อใช้ชีวิตในแอฟริกาช่วงแรก ๆ เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกลำบากเรื่องการกินเพราะอาหารการกินนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก คนที่นั้นจะกินอูกาลิเป็นแป้งข้าวโพดต้มมันกินยากมาก ๆ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มชิน วันไหนได้กินไก่เป็นอะไรที่มีความสุขมาก ตอนที่ผมอยู่ที่ประเทศไทย ไก่มันเป็นอะไรที่ธรรมดามากๆ ผมได้รู้ว่าความจริงว่า สิ่งที่ผมมีอยู่ในชีวิตเป็นสิ่งที่น่าขอบคุณอยู่แล้ว แต่เพราะในจิตใจเก็บเพียงความทุกข์จึงไม่สามารถสัมผัสความสุขตรงหน้าได้

จิตใจได้ออกกำลังกาย

                เมื่อร่างกายพบกับความลำบาก ผมจึงเริ่มสังเกตคนรอบข้างว่าเพราะอะไรเขาถึงมีความสุขกันได้ และได้ค้นหาความสุขที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ตอนนั้นอาจารย์ที่ดูแลบอกผมว่า “จิตใจของเรานั้นก็เหมือนร่างกาย ตอนเราอยากให้มันแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกายเพื่อให้มันเหนื่อยและความลำบากนั้นทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจของเธอเองก็เหมือนกันตอนที่มันจะแข็งแรงขึ้น เธอก็ต้องออกกำลังให้มันรู้สึกหนักใจและลำบากบ้าง แต่ถ้าเธอเอาแต่อยู่กับความสบายเหมือนเมื่อก่อน จิตใจก็จะกลับมาอ่อนแอ ไม่กล้าพบเจอหรือคุยกับใคร และจมอยู่ในโลกของตัวเองเหมือนเดิม ตอนนั้นผมก็ได้คิดว่าตอนนี้ตัวผมกำลังจะพัฒนา ทีได้เดินไปในความหนักใจ ลำบากกายนี้กำลังทำให้ผมได้พบกับความสุขที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน

กลับมาพบกับสิ่งเดิม ๆ

                หลังจากกลับมาจากการไปเป็นอาสาสมัครต่างประเทศ ผมก็กลับมาเจอกับสิ่งเดิม ๆ คนเดิม ๆ แต่จิตใจของผมนั้นที่ได้รับมาจากการไปเป็นอาสาสมัครที่ต่างประเทศนั้นทำให้ผมไม่ได้รู้สึกกลัวเหมือนเมื่อก่อน แต่กลับมีความกล้าที่จะไปทำสิ่งต่างๆ การไปเป็นอาสาสมัครไม่ใช่จะไปทำอะไรให้คนอื่นหรือว่าไปช่วยเหลือใคร แต่เป็นผมเองที่ได้รับการช่วยเหลือและเป็นคนที่ได้รับมากกว่า ได้รับจิตใจใหม่ ได้รับความสุขใหม่และท้ายที่สุดจากคนที่ไม่รู้ว่าอนาคตนั้นจะเป็นอะไรหรือต้องทำอะไร กลับกลายเป็นคนที่มีฝันและค่อยๆเดินตามฝันอย่างมีความสุขได้

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอาสาสมัคร 02-101-1367 หรือ 092-437-2201