การไม่รู้จักตัวตนและเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี เมื่อถูกคนอื่นตำหนิจึงใช้ชีวิตเกลียดชังคนรอบข้าง พอนานเข้า “โรคตื่นตระหนก” ก็มาเยือน!!!

เนื่องจากผมเป็นผู้บรรยายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ วันนี้จึงอยากให้ท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับ “โรคทางจิต” ที่ชื่อว่า “โรคตื่นตระหนก” (Panic Disorder) จากข้อมูล คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น สามารถเกิดร่วมกับโรคอื่น เช่น โรคซึมเศร้า

ที่มาของ “โรคตื่นตระหนก” เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ดังนั้นอาการก็จะมีความผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจหรือเหงื่อออกมากผิดปกติ ปกติแล้วการทำงานของระบบดังกล่าวต้องอาศัยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญในการควบคุม หากสมดุลของสารเคมีทำงานผิดปกติ ร่างกายก็จะตอบสนองผิดปกติ

คนที่เป็นโรคนี้ อยู่ดี ๆ ก็จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจขัดข้อง ไม่สบายท้อง ปั่นป่วนในท้อง หรือวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม อาการจะเกิดขึ้นประมาณ 15-20 นาทีแล้วค่อย ๆ หายไป

ผู้ป่วยจะเริ่มคิดว่า “เรากำลังเป็นอะไรไปรึเปล่า?” บางคนรู้สึกเหมือนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางคนอาจคิดว่า “โรคหัวใจกำลังมาเยือนแน่นอนและฉันกำลังจะตาย?” ในทางการแพทย์อาการของ “โรคตื่นตระหนก” นี้ มักรักษาด้วยการรับประทานยา แต่นอกจากการรักษาทางร่างกายแล้ว หากผู้ป่วยได้รับการรักษาจิตใจอย่างถูกต้อง จะทำให้ชีวิตเขาและคนรอบข้างปลอดภัย อันที่จริงโรคนี้ถ้ารักษาที่จิตใจก็จะหายขาดได้

เหตุที่ผมพูดเรื่องนี้ขึ้น เพราะมีตัวอย่างของคนที่หายขาดมาเล่าให้ฟัง ไม่นานมานี้ ผมเชิญ “คุณโช ซัง เร” ผู้บรรยายหลัก สถาบันการศึกษาโลกแห่งจิตใจประจำประเทศเกาหลีใต้ มาบรรยายในช่วง Mind Training ให้กับนักศึกษาและเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนนานาชาติ ที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

คุณโช เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็น “โรคตื่นตระหนก” มาก่อน แต่ตอนนี้หายขาดแล้ว แถมยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจด้วย คุณโช บอกว่า ส่วนมากอาการของ “โรคตื่นตระหนก” จะเกิดเมื่อเขาสะสมความเครียด กังวล หรือใจบอบช้ำจนกลายเป็นบาดแผล ทำให้มีความตื่นตระหนก หวาดกลัว หรือตอบสนองกับเรื่องรอบตัวต่าง ๆ มากจนเกินไป

ตอนเขาป่วยเป็นโรคนี้ แค่ขับรถลอดผ่านอุโมงค์ จู่ ๆ ก็มีความคิดว่า อุโมงค์จะถล่มลงมา เขาอาจจะต้องตายในวันนี้ พอคิดแบบนี้ก็จะรู้สึกปวดตรงหัวใจเหมือนมีอะไรมาบีบที่หน้าอก เจ็บปวดจนนอนไม่หลับตอนกลางคืน ถึงขนาดเคยนอนไม่หลับมาหนึ่งสัปดาห์เต็ม ทั้ง ๆ ที่หลับตา แต่สติยังคงตื่นอยู่ตลอดเวลา เขาทุกข์ทรมานและสมเพชตัวเองมาก

วันที่แต่งงานกับภรรยา ก็เคยสัญญาว่าจะดูแล ปกป้องเธอให้ดีตลอดชีวิต แต่กลับกลายเป็นว่าภรรยาต้องมาดูแลเขาแทน แม้ คุณโช จะยังไม่ถึงวัยที่ต้องตาย แต่รู้สึกเหมือนตัวเองจะตายอยู่ตลอดเวลา ทำให้กลัวและเหนื่อยกับร่างกายที่เป็นเช่นนี้

เขาจึงมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงอย่างละเอียด แต่ผลการตรวจร่างกายก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ต่อมาได้ลองกินยาทุกรูปแบบ แต่ก็ไม่หายและไม่สามารถดับความกังวลของตัวเองลงได้ จนไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป

จนกระทั่งได้พบอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเขานับถือ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชนและเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ คุณโช ไม่รอช้า พยายามอธิบายอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและคาดหวังว่าจะได้รับความเห็นใจและคำตอบที่จะสามารถคลายความกังวลนี้ลงได้ แต่อาจารย์ท่านนี้กลับบอกว่า สิ่งที่เขาเล่าทั้งหมดเป็นเพียงความคิดของเขาเท่านั้น

“คุณคิดไปเองครับ ที่จริงคุณไม่ได้ป่วยหรือผิดปกติอะไร แต่เพราะคุณแยกแยะความคิดไม่ได้ จึงได้แต่จมอยู่กับความคิดของตัวเองว่าคุณป่วย” ตอนนั้น คุณโช ไม่เข้าใจในคำตอบและรู้สึกโมโห

“นี่มันไม่ใช่ความคิด นี่มันคือความจริง ผมป่วยจริง ๆ ผมยังรู้สึกปวดหัว นอนไม่หลับอยู่ทุกวัน” เขายืนยันอย่างนั้นในความคิดและความรู้สึกของเขา คุณโช พูดย้ำชัดว่าตัวเองป่วย แต่ในความเป็นจริงคือหมอและคนรอบข้างต่างบอกกับเขาว่า “คุณเป็นปกติทุกอย่าง” เหตุการณ์ล่วงเลยจนมาถึงตอนที่เขาต้องตัดสินใจว่าจะให้ความสนใจกับความรู้สึกของตัวเอง หรือฟังเสียงจากคนรอบข้างดี?

วินาทีปลดล็อคจากโรค คือ ตอนที่เขาเลือกเชื่อสิ่งที่คนรอบข้างบอก “จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นอะไร” จึงเริ่มออกกำลังกายและต่อสู้กับความรู้สึกเจ็บป่วย และคอยบอกตัวเองว่า “แม้จะปวดแต่ฉันหายแล้ว” เขาคิดว่า การที่ร่างกายรู้สึกเจ็บปวดไม่ได้แปลว่าร่างกายเป็นโรคเสมอไป เหมือนกับการที่เราหยิกเนื้อตัวเอง ตอนนั้นก็เจ็บแต่ถ้าปล่อยก็หายเจ็บแล้ว เขาจึงเลิกตอบสนองต่อความรู้สึกของตัวเอง แม้จะปวดอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาป่วย

คุณโช อธิบายอีกว่า อาจารย์ท่านนั้นบอกกับเขาว่า อาจารย์ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เพราะยอมรับตัวเองที่มีข้อบกพร่องและไม่ได้เป็นคนดีอะไร เมื่อมีคนมาดูถูก จึงไม่เกลียดโกรธ หรือบ่น รวมทั้งไม่ได้เก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นความเครียดภายในใจด้วย

คำพูดนี้ทำให้ คุณโช รู้สึกละอายใจเพราะรู้ว่าเหตุที่เขาต้องทุกข์ทรมานเช่นนี้นั้นเป็นเพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง คิดว่า…ตนเป็นคนซื่อสัตย์ ทำดีมาตลอด ไม่เคยสร้างความเสียหายให้ใคร จึงไม่เข้าใจอยู่บ่อย ๆ เวลาถูกคนอื่นตำหนิ จากนั้นก็ได้แต่ใช้ชีวิตเกลียดชังคนรอบข้างมาตลอด การเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี มันทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทุกข์ทรมาน เสียงของคนอื่นเข้ามาในใจไม่ได้ เอาแต่ยึดติดอยู่กับสถานการณ์รอบข้าง ไม่ยอมละทิ้งสิ่งที่สายตามองเห็นหรือความรู้สึกของตัวเองเลย เมื่อเป็นแบบนี้นานเข้า “โรคตื่นตระหนก” ก็มาเยือน

ความจริงแล้วโรคนี้ ไม่มีทางรักษาครับ กินยาก็ไม่หาย เพราะยาทำได้แค่ปรับฮอร์โมน แต่ คุณโช หายขาดเพราะตัดสินใจเลือกที่จะฟังเสียงของคนรอบข้างที่บอกว่า “คุณไม่ได้เป็นอะไรหรอก” ยุติความกังวล ไม่ติดอยู่กับความคิดและจมอยู่ในความทุกข์ทรมานของตัวเองจนเกือบตายเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังยอมรับว่าตนเองก็มีข้อเสีย มีโอกาสทำผิดพลาดได้ จึงทำให้รู้ว่าจำเป็นมากที่จะต้องรับฟังคำต่อว่าและตักเตือนจากคนอื่น

ร่างกายของคนเราสามารถอดทนต่อความเจ็บป่วยได้ หากเรามีใจเข้มแข็งที่จะต่อสู้และแยกแยะระหว่าง “ความคิด” และ “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นกับความเป็นจริง เมื่อค้นพบว่า “ความคิดและความรู้สึก” ของเราผิด ก็ต้องเลิกตอบสนอง สุดท้ายจะสามารถหลุดออกจาก “ความกังวลสิ้นหวัง” ที่ทำให้เกิด “โรคในจิตใจ” ได้

ที่มา : คอลัมน์มองเปลี่ยนมุม เดลินิวส์ 
โดย ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย

สนใจปรึกษาเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกิจกรรม Healing Mind ติดต่อ 📱 094-415-9166 หรือ 02-101-1367

🌐https://www.facebook.com/healingmindTH/

🌐https://iyfthailand.com/healing-mind/