“การไหลเวียนจิตใจ” คือการพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวและปัญหาที่พบเจอในชีวิตให้กันและกันฟัง ถ้าคุณเริ่มที่จะพูดคุยกับลูกหรือพ่อแม่น้อยลง ให้รู้ไว้ครับว่า…จิตใจของคุณกำลังไหลไปคนละทาง

ปัญหาเยาวชนทุกวันนี้มีมากมายจนรัฐบาลทั้งหลายต้องหาทางแก้กันอย่างไม่จบไม่สิ้น ส่วนตัวผมคิดว่า ปัญหาที่ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยต้องพบเจอคือ ปัญหาการ “เสพติด” หลัก ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องเยาวชนติดเกมและติดยาเสพติดครับ

คนส่วนมากมักจะคิดว่าทางออกของมันคือต้องให้เด็กเหล่านี้เข้ารับ “การบำบัดแก้ไข” เพราะพวกเขารู้ครับว่า หากจะแก้ที่ต้นเหตุ มันแก้ได้ยากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ ต้นเหตุของปัญหาหลายคนมักพูดว่าเด็กพวกนี้ขาดความรักความอบอุ่น แต่ผมอยากจะพูดให้ชัดเจนกว่านั้นคือ เด็กที่มีปัญหาเสพติดบางสิ่งบางอย่างเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รับ “การไหลเวียนจิตใจ” กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวนั่นเอง

“การไหลเวียนจิตใจ” คือการพูดคุยถ่ายทอดเรื่องราวและปัญหาที่พบเจอในชีวิตให้กันและกันฟัง ถ้าคุณเริ่มที่จะพูดคุยกับลูกหรือพ่อแม่น้อยลง ให้รู้ไว้ครับว่า…จิตใจของคุณกำลังไหลไปคนละทาง และคุณกำลังเปิดช่องให้ลูกหันไปเสพติดอะไรก็ตามที่เขาอยากจะทำ

ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับการวิจัยเรื่อง “การทดลองยาเสพติดกับหนู” ในยุค 1970 “บรูซ อเล็กซานเดอร์” นักจิตวิทยาชาวแคนาดาได้ทำการทดลองกับหนู โดยแบ่งกรงเป็นสองแบบ กรงแบบที่หนึ่ง คือมีน้ำสองขวด ขวดที่เป็นน้ำธรรมดากับขวดที่เป็นน้ำผสมยาเสพติด แต่อีกกรงหนึ่งนั้น นอกจากจะมีน้ำสองขวดแบบเดียวกันแล้ว เขายังสร้าง “สวรรค์แห่งหนู” ที่มีอาหารและมีเพื่อนให้เล่นด้วย

ผลการทดลองออกมาอย่างน่าทึ่ง หนูในกรงที่มีแต่น้ำสองขวดจะดื่มแต่น้ำที่ผสมยาเสพติดจนตาย ขณะที่หนูซึ่งอยู่ในกรงที่มีเพื่อนจะไม่ชอบน้ำที่มียาเสพติด มันดื่มไปไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเจ้าหนูผู้โดดเดี่ยวในอีกกรงหนึ่ง สรุปการทดลองนี้ว่า สิ่งที่ทำให้หนู “ติดสารเสพติด” นั้นไม่ใช่ตัว “สารเสพติด” แต่เป็นการขาดความสัมพันธ์กับตัวรอบข้างต่างหาก

นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นสามารถทำให้คนเรามีความสุขได้ เพราะตอนที่ได้พูดคุยกับคนอื่นจะสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะคติและเรื่องราวในใจซึ่งกันและกัน ในตอนนั้นเองเราต่างก็มีที่จะระบายเรื่องราวทุกข์ทรมานในใจออกมาได้ด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าสู่กันฟังคือ เรื่องราวในนิตยสารไทม์ย้อนไปใน “สมัยสงครามเวียดนาม” ตอนนั้นทหารอเมริกันกว่าร้อยละ 20 ที่ไปรบจะใช้ “เฮโรอีน” เพื่อคลายความเครียดจนเป็นเรื่องธรรมดา ราวกับมันเป็นหมากฝรั่ง หลายคนจึงกังวลว่าเมื่อสงครามจบจะทำให้มีผู้ติดยาเสพติดจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ

แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ร้อยละ 95 ของทหารที่ติดยาสามารถเลิกยาได้เมื่อกลับบ้าน และมีเพียงส่วนน้อยมาก ๆ เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติด เหตุผลคือเมื่อทหารเหล่านั้นกลับบ้านเกิด ได้กลับมามีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเพื่อนอีกครั้ง ยาเสพติดก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องพึ่งพาอีกต่อไป

ถ้าลูกได้อยู่กับพ่อแม่อย่างเป็นปกติ จะไม่มีโอกาสอยู่อย่างโดดเดี่ยว คนที่อยู่คนเดียวบางคนเอาแต่เล่นเกมหรือทำสิ่งใดก็ตามที่ตนชอบจน “ติด” จากนั้นชีวิตจะค่อย ๆ ตกต่ำลง ผมเห็นบ่อยครั้งที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกทางกัน เด็ก ๆ ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งมักจะตามใจหลาน ไม่บังคับหรือฝึกให้เด็กยับยั้งชั่งใจ บ่อยครั้งที่เด็กต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีใครดูแล “การไหลเวียนจิตใจ” ยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขามักไม่ทำสิ่งเหล่านี้กับคนรอบตัวอยู่แล้ว

ดังนั้น หากจะแก้อาการ “เสพติด” นานาชนิด ไม่ใช่การบังคับให้กินยาหรือฝืนบังคับพฤติกรรม แต่จะต้องแก้ที่จิตใจที่มีปัญหาก่อน และเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง ไอวายเอฟ ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนนานาชาติ รู้ถึงสภาพดังกล่าวในเยาวชนไทยเป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดค่ายที่เรียกว่า “เวิลด์แคมป์” (World Camp) ขึ้นทั่วประเทศ

มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ซึ่งมาจากเหล่าอาสาสมัครจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังสามารถเข้าร่วมโปรแกรมที่เรียกว่า “Good News Corps” (GNC) ซึ่งเปิดให้โอกาสเยาวชนไทยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ทำกิจกรรมที่หลากหลายให้ได้ไหลเวียนจิตใจและสามารถสื่อจิตใจกับผู้อื่นได้

หากจะแก้ไขปัญหานี้จะแค่พูดอย่างเดียวไม่ได้ครับ ผมจึงลงมือทำด้วย และผ่านทาง ไอวายเอฟ นี้ ได้มีการเก็บสถิติเด็ก ๆ อาสาสมัครที่มีมาแล้ว 10 รุ่น พวกเขาสามารถเลิก “อาการเสพติด” หรือ “เลิกจมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ” ได้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังได้รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ เรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจ และไหลเวียนจิตใจกับบุคคลรอบข้าง เมื่อเยาวชนเหล่านี้กำลังตกอยู่ในสภาวะที่จมไปกับการเสพติดบางสิ่งบางอย่าง พวกเขาก็จะมีพลังที่จะเริ่ม “ไหลเวียนจิตใจ” เปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจได้โดยไม่จมอยู่แต่กับตัวเองและสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ “การเสพติด” อีกต่อไป สามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องและเป็นอนาคตที่ดีของประเทศต่อไป

ที่มา : คอลัมน์มองเปลี่ยนมุม เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2559
โดย ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย

สนใจปรึกษาเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกิจกรรม Healing Mind ติดต่อ 📱 094-415-9166 หรือ 02-101-1367

🌐https://www.facebook.com/healingmindTH/

🌐https://iyfthailand.com/healing-mind/