ลองประเมินลักษณะนิสัยตัวเองไปพร้อม ๆ กับคนอื่นดูแล้วจะรู้ว่า…คุณอยู่จุดที่ให้คะแนนตัวเองสูงกว่าหรือคนอื่นให้คะแนนตัวคุณสูงกว่า หากคุณให้คะแนนตัวเองสูงกว่าที่คนอื่นประเมินแสดงว่าถึงเวลาปรับเปลี่ยนตัวคุณแล้ว

คุณเคยให้คะแนนตัวเองเวลาทำอะไรสักอย่างไหมครับ? ก็อาจจะเคยทำมาบ้างเพื่อ “วัดระดับความสามารถ” ของตัวเอง หากเราลองประเมินตัวเองดู เชื่อไหมครับว่า…เป็นธรรมชาติที่คนเราจะเข้าข้างตนเองและมักให้คะแนนตัวเองสูงกว่าคะแนนที่ผู้อื่นประเมินให้

ตัวอย่างเช่น หลายคนให้คะแนนตัวเองสูงกว่า 80 คะแนน ทั้งที่คนอื่น ๆ ประเมินพวกเขาว่าควรอยู่ที่เพียง 50 คะแนนเท่านั้น สิ่งที่สะท้อนออกมาจากผู้ที่ประเมินตนเองสูงคือคนเหล่านี้มักมีเรื่องขัดแย้งกับผู้คนรอบตัวอยู่เสมอ เพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองจัดอยู่ในระดับ 80 คะแนนและเชื่อมั่นในตัวเองมาก แต่คนอื่น ๆ กลับปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนคนที่อยู่ในระดับ 50 คะแนนเท่านั้น บางคนจึงเริ่มคิดว่า “ทำไมใคร ๆ ถึงได้ดูถูกฉันกันนักนะ” ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นมองตนจนในที่สุดก็เกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้นมา

ผมขอยกตัวอย่างสถานการณ์ของ การประเมินตนเองสูงเกินไป คงจำกันได้นะครับว่ายักษ์ใหญ่ในวงการผลิตรถยนต์ในอเมริกาหรือ “Big Three” ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองดีทรอยต์คือเจเนรัลมอเตอร์ ฟอร์ด และไครสเลอร์ กรุ๊ป ในช่วงตั้งแต่ปี 1999-2006 ยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดของพวกเขาย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยอดขายของ โตโยต้า นิสสัน และฮุนได กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการผลิตรถเล็ก เพราะประหยัดน้ำมันกว่า แต่ “Big Three” ซึ่งผลิตแต่รถใหญ่สมรรถนะสูง (ทำให้กินน้ำมันมาก) กลับมีทัศนคติที่ว่า…

“พวกนี้ก็แค่ติดอยู่กับตลาดรถเล็ก ไม่มีทางที่จะเข้ามาสู่ตลาดยานยนต์จริง ๆ ได้หรอกน่า” และมุ่งไปตามสโลแกนที่ว่า “Big is beautiful” หลังจากนั้น “Big Three” ก็เริ่มที่จะละเลยและประมาทในการบริหารจัดการ เพราะเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมรถเล็กไม่สามารถตีตลาดรถยนต์ที่แท้จริงได้

แต่ความเป็นจริงคือ ตลาดและรสนิยมการบริโภคของลูกค้ากำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้ท้ายที่สุด “Big Three” เหล่านี้ ประสบปัญหายอดขายตกลงฮวบฮาบ จนในเวลาต่อมาค่ายรถโตโยต้าก็ผงาดขึ้นครองบัลลังก์วงการยานยนต์แทนที่ และนี่ก็คือ “ผลจากการประเมินค่าตัวเองสูงมากเกินจนทำให้ประเมินค่าผู้อื่นต่ำ รวมถึงการเชื่อมั่นในประสบการณ์ความสำเร็จของตัวเองมากเกินจนเกิดความประมาทและทำให้บริษัทต้องล้มละลายในที่สุด”

คนเรามักคิดว่าตัวเองเก่งกาจและเชื่อมั่นในตัวเองมาก จนกว่าจะได้พบกับผู้ที่เก่งกว่าตัวเอง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ขึ้นป้ายว่า “ฉันนี่แหละเก่งที่สุด” ไว้หน้าประตูบ้าน หรือไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ แต่ในใจก็มักบอกตัวเองอัตโนมัติว่า “ฉันเก่ง ฉันฉลาด ฉันดีกว่าคนอื่น ๆ ในจุดนั้น ในจุดนี้” คนทุกคนมีจิตใจเช่นนี้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อคนเราเป็นฝ่ายผิดและทำพลาดพลั้ง จนได้ตระหนักว่าตนน่าเวทนายิ่งกว่าที่คิดเพียงใด เราจึงจะเริ่มถ่อมตน ซื่อตรง และขยันขันแข็งมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ยังคงติดอยู่กับรสชาติแห่งความยิ่งใหญ่ของตนเองจะไม่ยอมฟังเสียงของผู้อื่น ยุ่งอยู่กับการนำเสนอความคิดเห็นของตนเอง คนลักษณะนี้จะเย่อหยิ่งโดยอัตโนมัติและส่วนมากก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ ลักษณะเหล่านี้จะนำพาเขาไปสู่ “การล้มละลาย” ในที่สุด

ในทางกลับกัน จากที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้น หากคน ๆ หนึ่งได้รับคะแนนประเมินจากผู้อื่นเท่ากับ 50 คะแนน แต่เขากลับให้คะแนนตัวเองเพียง 30 คะแนนเท่านั้น คนผู้นี้มักมีจิตใจขอบคุณต่อผู้คนรอบข้างเสมอ ขอบคุณกับเรื่องเล็กน้อย ๆ ได้ แม้มีปัญหาเข้ามาก็สามารถมองโลกในแง่บวก แม้คนรอบตัวจะปฏิบัติต่อเขาและมองเขาในฐานะของคนที่มี 50 คะแนน แต่เขาจะมองตัวเองแค่ 30 จึงยังมีพื้นที่ให้คนอื่นและมีคำขอบคุณในใจอีกเยอะครับ คนลักษณะนี้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนอื่น ๆ รอบตัวอีกด้วย

ลองสำรวจหรือประเมินลักษณะนิสัยตัวเองไปพร้อม ๆ กับคนอื่นดูแล้วจะรู้ว่า “คุณอยู่จุดที่ให้คะแนนตัวเองสูงกว่า หรือคนอื่นให้คะแนนตัวคุณสูงกว่าคุณให้คะแนนตนเอง หากคุณให้คะแนนตัวเองสูงกว่าที่คนอื่นประเมินก็แสดงว่า ถึงเวลาปรับเปลี่ยนตัวคุณแล้วนะครับ”

ที่มา : คอลัมน์มองเปลี่ยนมุม เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559
โดย ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย

สนใจปรึกษาเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกิจกรรม Healing Mind ติดต่อ 📱 094-415-9166 หรือ 02-101-1367

🌐https://www.facebook.com/healingmindTH/

🌐https://iyfthailand.com/healing-mind/