เมื่อวันที่ 28 มกราคม- 7 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย IYF (International Youth Fellowship) ได้จัดกิจกรรม “Thailand Online Leaders Conference” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษาไทย ได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านการเขียนโครงการแก้ปัญหาเยาวชน ในหัวข้อ “Driving Education” เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์สังคมและเยาวชนมากยิ่งขึ้น ในยุคหลัง โควิด-19 ที่การเปลี่ยนแปลงของสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และสุขภาพจิตของเยาวชนในระบบการศึกษาไทย โดยมุ่งหวังเพื่อหาคำตอบว่า การศึกษาแบบใดที่จะสร้างอนาคตให้กับเยาวชนไทยได้อย่างยั่งยืน ครั้งนี้มีนักเรียนระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยจากหลากหลายสถาบัน เข้าร่วมกว่า 400 คน จับกลุ่มแบ่งเป็นทีมละ 7- 10 คน โดยตลอดการทำกิจกรรมผู้เข้าร่วมจะได้รับคำแนะนำจากสต๊าฟของ IYF อย่างใกล้ชิด

ในแต่ละวันผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนโครงการ แนวทางการประเมิน และการวางแผนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และทำ Mission ที่แตกต่างกันตามที่ได้รับมอบหมายในเวลาที่จำกัด เช่น Mission 1 เป็นการปูพื้นฐานก่อนเริ่มร่างโครงการ มีการสอนการคิดแบบเป็นระบบด้วยการวิเคราะห์จากแผนภูมิต้นไม้ โดยจัดวาง ‘ราก’ เท่ากับรากของปัญหา ‘ลำต้น’ เท่ากับปัญหา และ ‘ผล’ เท่ากับทางออกของปัญหา นอกจากนี้ยังเรียนรู้กระบวนการคิดแบบเป็นระบบผ่านการวิเคราะห์ด้วย Dicision Grid เพื่อประเมินไอเดียและแผนงานว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เมื่อภายในกลุ่มหารือกันเรียบร้อยแล้วจะเริ่มกระบวนการร่างโครงการเพื่อเขียนเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ใน Mission 4 และ Mission 5 จะเป็นช่วงของการนำเสนอโครงการผ่านพาวเวอร์พอยและวิดีโอคลิป

ทั้งนี้ ใน Mission 6 มีช่วง Education Leaders Forum ที่เป็นการบรรยาย Self-Development ให้กับคณบดี รองคณบดี และผู้ช่วยคณบดี ที่มารับหน้าที่เป็น Mentor ให้กับผู้เข้าร่วม โดย ดร.แจ ฮง คิม ผู้อำนวยการสถาบัน International Mind Education Institute ประเทศเกาหลีใต้ และการบรรยายโดยคุณนัม กยอง ฮยอน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้น Mentor ให้คำปรึกษาน้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อให้โครงการสามารถตอบโจทย์การศึกษาได้ดีขึ้น ด้วย

สำหรับโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติจริง นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนไอเดียกับ Mentor ชั้นนำด้านการศึกษา รับสิทธิ์ไปเป็นอาสาสมัครที่ต่างประเทศทำกิจกรรมพัฒนาสังคมในต่างแดน และได้รับประกาศนียบัตรด้วย

เรามุ่งหวังว่า เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหา ได้เรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตกับการศึกษา โดยสามารถต่อยอดเพื่อสร้างความรับรู้ให้สังคมรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหาการศึกษา ทั้งในมิติของสุขภาพจิตและการเรียนการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย