เหล่าอาสาสมัครไทยที่เดินทางไปทำกิจกรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กับโครงการอาสาสมัครต่างประเทศของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (IYF) ตลอดระยะเวลา 13 ปี แม้ว่าจะกลับมาจากต่างประเทศแล้วก็ตาม สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา พวกเขาได้รวมตัวกันเดินทางไปถึง 11 จังหวัด ตั้งแต่ปทุมธานี สระแก้ว บึงกาฬ เชียงราย เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ตาก นครราชสีมา สมุทรปราการ ชลบุรี และราชบุรี เพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ ทั้งแจกของขวัญ จัดนิทรรศการวัฒนธรรมนานาชาติ แสดงเต้นวัฒนธรรม วงดนตรีและนักร้องประสานเสียง ละครเวทีบอกเล่าประสบการณ์อาสาสมัครของเหล่านักศึกษา และการแสดงสุดพิเศษอย่างละครเวทีมิลสิคัล คริสมาสต์คันทาทา นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครต่างประเทศที่ประจำอยู่ประเทศไทยจากหลากหลายประเทศ  ทั้งเกาหลีใต้ อินเดีย จีน แม็กซิโก โคลัมเบีย อาร์เจนตินา และยูเครน ซึ่งหลายคนก็อยู่ที่ประเทศไทยมาเกือบ 1 ปี และกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน ครั้งนี้จึงถือเป็นกิจกรรมส่งท้ายที่พวกเขาเองก็เป็นกำลังหลักในการจัดงานเช่นกัน

                โดยการเตรียมงานครั้งนี้ เหล่าอาสาสมัครต้องเตรียมงานเองทั้งหมด ทั้งเขียนบทละคร ตัดเย็บเสื้อผ้าใหม่ หรือแม้กระทั่งทำฉากประกอบละคร ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น แต่การเตรียมงานในครั้งนี้แตกต่างจากตอนที่พวกเขาเคยเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ เพราะหลายคนยังเป็นนักศึกษาอยู่ หลายคนเรียนจบและทำงานประจำแล้ว ดังนั้นทุกคนจึงรวมตัวกันได้เฉพาะเวลาช่วงเย็นเท่านั้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องทำแล้ว ถือว่าพวกเขามีเวลาเตรียมตัวไม่นานเท่าไหร่ หลายครั้งต้องนอนดึก แต่ต้องตื่นเช้า หรือหลายคนที่เรียนอยู่ต่างจังหวัด ก็ต้องเดินทางมาที่ศูนย์ในคืนวันศุกร์ และใช้เวลาทั้งวันในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อเตรียมงานครั้งนี้เลยทีเดียว

                การแสดงครั้งแรกเริ่มต้นวันที่ 21 ธันวาคม ณ ศูนย์ไอวายเอฟ จังหวัดปทุมธานี หลังจากนั้นทีมนักร้องวงประสานเสียงและพิธีกรก็เดินทางไปจัดกิจกรรมที่จังหวัดสระแก้ว ก่อนที่ทีมนักแสดงคนอื่นๆ จะตามไปสมทบและเริ่มจัดการแสดงเต็มรูปแบบที่จังหวัดบึงกาฬในวันที่ 23 ธันวาคม

                เนื่องจากช่วงเวลาที่เริ่มทัวร์นั้น หลายคนยังต้องทำงานอยู่ ทีมงานส่วนใหญ่ที่ร่วมกันออกเดินทางจึงเป็นอาสาสมัครชาวต่างชาติ และอาสาสมัครไทยจำนวนไม่มากนัก 1 คน จึงต้องรับหน้าที่มากกว่า 1 อย่าง อุปสรรคในการจัดงานครั้งนี้คือ พวกเขาไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าเวทีจัดการแสดงแต่ละที่มีขนาดเท่าไหร่ นอกจากนี้ การเดินทางไปแต่ละที่ก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน เมื่อเดินทางไปถึง ทีมงานทุกคนต้องช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ จัดฉากบนเวที และรีบแต่งตัวเพื่อให้พร้อมสำหรับการแสดง แต่ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้มีเวลาซ้อมบนเวทีจริงไม่มากเท่าที่ควร นั่นทำให้พวกเขาค่อนข้างกังวลว่าจะทำการแสดงได้ดีหรือไม่ อีกอุปสรรคหนึ่งที่พวกเขาต้องเจอ คือ สภาพอากาศ เพราะในทุกที่ที่ไปนั้น อากาศค่อนข้างแปรปรวน ตอนเช้าอากาศจะเย็นจัด บางครั้งอุณภูมิลดลงถึง 14 องศาเซลเซียส แต่ช่วงสายๆ อากาศก็เริ่มร้อน และเมื่อถึงเวลากลางคืน อากาศก็กลับมาเย็นอีก บางครั้งก็มีลมแรงเหมือนฝนจะตก เรียกว่าใน 1 วัน มีถึง 3 ฤดูเลยทีเดียว เมื่อต้องเผชิญกับอากาศแบบนี้ หลายคนจึงเริ่มไม่สบาย แต่พวกเขาก็ยังพยายามดูแลตัวเองมากขึ้น เพื่อเข้าร่วมงานให้ครบทุกที่

                แม้ว่าช่วงเวลาในการเดินทางจะยาวนานจนทำให้ไม่มีเวลาซ้อมบนเวทีจริง แต่พวกเขาก็แก้ปัญหาด้วยการใช้เวลาระหว่างเดินทางฝึกซ้อมในส่วนที่ทำได้ เช่น การร้องเพลงประสานเสียง หรือจับคู่ซ้อมเพื่อให้เข้าถึงบทบาทของตัวละคร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พวกเขาทำทุกครั้งที่รวมตัวกัน คือ การแบ่งปันจิตใจ ซึ่งเป็นการบอกเล่า แลกเปลี่ยนความรู้สึกก่อนและหลังจบงานในแต่ละครั้ง พวกเขาจะได้แบ่งปันความรู้สึกของตัวเอง และได้รับฟังคนอื่นด้วย ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไหลเวียนจิตใจกัน คือ ไม่ใช่คนที่มองแค่มุมของตัวเอง แต่ยังได้มองในมุมของคนอื่นด้วย ซึ่งพวกเขาเคยเรียนรู้การแบ่งปันจิตใจเมื่อครั้งเป็นอาสาสมัครมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากนักกับการใช้ช่วงเวลานี้ร่วมกัน

ความรู้สึกของนักแสดง

น้ำทิพย์ อาสาสมัครต่างประเทศรุ่นที่ 9  ประจำประเทศเบเนง (เสื้อชมพู)

น้ำทิพย์ อาสาสมัครต่างประเทศรุ่นที่ 9  ประจำประเทศเบเนง เป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมเดินทางจัดการแสดงในครั้งนี้เล่าว่า “เวทีแรกที่ต้องแสดงคือ ที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเวทีอยู่ริมแม่น้ำโขง ลมค่อนข้างพัดแรง ตอนที่เราติดตั้งม่านหน้าเวทีที่ใช้สำหรับการเปลี่ยนฉากเสร็จ ลมก็พัดม่านจนปลิวขึ้นไปเป็นหลังคาแทน เรากังวลกันมากว่าจะทำการแสดงได้ไหม แต่เราไม่มีเวลามานั่งกังวล ถึงจะอย่างไรเราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแสดงแรกของทัวร์นี้ โชคดีที่สุดท้ายแล้วลมก็สงบลง พวกเราก็แสดงกันได้ แม้ว่าตอนเริ่มต้นจะยาก แต่เมื่อผ่านเวทีแรกมาได้ เรารู้สึกขอบคุณมากที่ได้มีส่วนร่วมกับการแสดงนี้ เพราะจริงๆ แล้ว พวกเราเองก็ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่ได้รับโอกาสแบบนี้ ก็ขอบคุณได้ ตอนที่ออกไปหน้าเวทีแล้วเห็นผู้ชมมากมาย มันทำให้เรามีความสุขมากจริงๆ”

ชางกีตา เดวี อาสาสมัครจากประเทศอินเดีย ผู้เลือกเดินทางมาประเทศไทยตามคำแนะนำของเพื่อนชาวไทยเองก็มีส่วนร่วมในการแสดงเช่นกัน สิ่งที่ยากสำหรับเธอ คือ การรับบทละครที่ต้องพูดภาษาไทย เพราะไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้ แต่ทีมนักแสดงที่มีจำกัด จึงทำให้เธอไม่สามารถปฎิเสธการรับบทได้ นั่นจึงทำให้เธอมีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนคนไทยมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อเรียนภาษาไทยให้เข้าถึงบทบาทตัวละคร แต่ยังมีโอกาสได้แบ่งปันจิตใจที่รู้สึกยากลำบากด้วย

“จริงๆ แล้วฉันยังบกพร่องอีกเยอะมาก ถ้ามองที่ความสามารถของฉันแล้ว ฉันจะแสดงละครที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย บางครั้งฉันก็คิดว่าทำไมวันนี้แสดงไม่ดีเลย แต่ตอนที่ผู้ชมปรบมือให้ ฉันก็รู้สึกขอบคุณมากที่ได้แสดงละครครั้งนี้”

                แม้ว่าจะไม่ได้ไปเที่ยวในวันหยุดยาวหรือพักผ่อนสบายๆ อย่างที่ใจต้องการ แต่การเดินทางครั้งนี้ก็ได้สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับผู้คนมากมาย รวมถึงเหล่าอาสาสมัครเองที่ได้กลับมาทำกิจกรรมเหมือนครั้งที่ตัวเองเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ถึงแม้ร่างกายจะเหนื่อยล้าจากการเดินทางและทำกิจกรรม แต่เมื่อเห็นคนที่เข้ามาชมการแสดงมีความสุข ยิ้มหัวเราะได้ จิตใจของพวกเขาก็ได้รับความสุข ความขอบคุณเป็นการตอบแทน เหมือนได้ชาร์จแบตจิตใจให้เตรียมพร้อมกับการใช้ชีวิตในปีใหม่ 2020