สายไหม อาสาสมัครรุ่น 6 ประเทศเปรู

เปรูเป็นประเทศไกลตัวคนไทยที่มีธรรมชาติสวยงาม และ “สายไหม” ศศิชา ครุวรรณพัฒน์ บัณฑิตหมาดๆของคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโอกาสเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่นั่นเป็นเวลา 11 เดือน คือ ระหว่างมิ.ย. 2555 – พ.ค.2556 ในตอนแรกสายไหมในฐานะอาสาสมัครจากมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) ประจำประเทศไทย คิดว่า เปรูจะต้องเป็นประเทศที่เจริญมาก เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลก เช่น มาชูปิกชู เมืองอารยธรรมโบราณของชาวอินคาอยู่ด้วย แต่พอออกจากสนามบินใหญ่ที่ตั้งอยู่ในกรุงลิมาแล้ว สองข้างทางกลับเป็นดินดำ มีฝุ่นฟุ้งตลบอยู่เต็มไปหมด ผิดจากที่คิดไว้ แต่ข้อดีของเปรูคือ เป็นประเทศ 3 ภูมิภาค มีทั้งพื้นที่ที่เป็นชายทะเล ป่าดิบชิ้นแถบอะเมซอนและพื้นที่ทะเลทรายตอนในของประเทศ ดังนั้นไม่ว่าจะเพาะปลูกสิ่งใดก็สามารถทำได้ ผลไม้ที่นั่นอร่อยและหลากหลายพอๆกับไทย 

สัปดาห์แรกของการใช้ชีวิตได้โอกาสทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ที่บ้านพักคนชราในกรุงลิมา พูดคุยและทำอาหารให้พวกเขารับประทาน รวมถึงทำการแสดงด้วย ที่มูลนิธิฯสาขาเปรูมักชอบจัดงานแสดงวัฒนธรรมนานาชาติมาก ทำให้สาวไทยหน้าใหม่ได้ไปร้องเพลงไทยให้คนเปรูฟัง ทั้งที่เสียงไม่ดี น้องสายไหมขึ้นโชว์ในเพลง “รอเธอกลับมา” ประกอบภาพยนตร์เรื่องปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น ทำเอาผู้ชมที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น 300-400 คน งงกันทั้งห้องประชุมว่า ร้องเพลงภาษาอะไร แต่สาวไทยก็จบอย่างสวยงามด้วยการแปลท่อนสุดท้ายของเพลงเป็นภาษาสเปนว่า “เต เกียโร” (ฉันรักเธอ) ทุกคนจึงร้องเฮและปรบมือให้ 

ในช่วงสามเดือนแรก อาสาสมัครต่างชาติซึ่งมีทั้งหมด 15 คน จากไทย เกาหลีใต้ อเมริกาและจาไมกาจะยุ่งอยู่กับการจัดงานแสดงวัฒนธรรมบ่อยครั้ง เนื่องจากจัดขึ้นในทุกเมืองของเขตลิมา อาจารย์ประจำมูลนิธิฯจะแบ่งกลุ่มอาสาสมัครกระจายออกไปตามกลุ่มนิทรรศการต่างๆซึ่งแบ่งตามประเทศหรือทวีป ภารกิจหลักคือให้ช่วยกันทำบูท ประชาสัมพันธ์ประเทศตนเอง

ทำข้าวเหนียวมะม่วงต้นตำรับไทย

แน่นอนว่าสายไหมต้องเป็นหัวหน้าทีมบูทไทย เงินที่ได้มาก็ไม่เพียงพอกับกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมไทย แม้บางอย่างจะสามารถขอยืมมาจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลิมาได้ ทำให้สาวไทยออกความคิดทำ “ข้าวเหนียวมะม่วง”ตำรับไทย ไปขายที่ตลาดแถวที่พัก เริ่มจากการไปซื้อข้าวเหนียวและกะทิจากร้านขายของในย่านคนเอเชียมาทำและใช้มะม่วงเปรู ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในท้องถิ่นมาจับคู่กัน ตั้งชื่อเมนูข้ามทวีปนี้ว่า “อะโรส กลูติโนโซ่ กน มังโก”(แปลว่า ข้าวเหนียวมะม่วง) ขายถ้วยละ 30 โซเลส (ราว 15 บาท) ปรากฏว่า ขายดีมาก ถูกปากคนเปรูที่ชอบรับประทานของหวานจนได้เงินเพียงพอมาจัดบูทจนได้

งานมีขึ้นที่จตุรัสหลักของเมืองๆหนึ่งในเขตลิมาอีกตามเคย แม้คนเปรูจะไม่ค่อยรู้จักประเทศไทย แต่บูทไทยก็ไม่ได้เงียบเหงาอย่างที่คิด เพราะทีมไทยซึ่งมีเพียงแค่ 4 คน (คนไทย 1 คน คนเปรูอีก 3 คน)ได้ทำช้างจำลองให้ผู้เข้าร่วมได้ถ่ายรูป และขึ้นขี่จริง รวมทั้งมีกิจกรรมให้ทำกระทงด้วย ทำให้คนเปรูรู้จักประเทศไทยมากขึ้น จากตอนแรกเข้าใจว่า เป็น “ไต้หวัน”มาตลอด 

ส่วนใหญ่ชาวเปรูจะรู้จักประเทศไทยจากภาพยนตร์ “จา พนม” “ต้มยำกุ้ง” “ช้าง”และ “มาริโอ เมาเร่อ” และเรื่องสิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก เป็นภาษาสเปนจะชื่อว่า “อุน่า เปเก็นญ่า โกส่ะ ญามาด่า อะมอร์” เมื่อรู้เช่นนี้สายไหมจึงนำโปสเตอร์พระนางจากหนังเรื่องดังกล่าว มาตั้งหน้าบูทวัฒนธรรมเพื่อเรียกความสนใจด้วย 

โดนปาไข่ใส่หัว

เมื่ออยู่เปรูได้ 5-6 เดือน สายไหมพบความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สุดจะอึ้งคือ เรื่อง “วันเกิด” เพราะโดยปกติที่ไทยจะเป่าเค้กฉลองกันไปตามเรื่อง แต่ที่เปรูหากถึงวันเกิดเมื่อไหร่ เจ้าของวันเกิดต้องแอบให้ดีที่สุด ห้ามให้คนอื่นหาตัวเจอ เพราะเพื่อนฝูงจะพากันมาปาไข่ใส่หัวพร้อมโรยด้วยแป้งอย่างไม่เกรงใจเพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่สาวไทยไม่ทราบเรื่องนี้ จึงให้ความร่วมมือกับทางเทศบาลนครลิมา เดินทางไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็กม.ปลายตามปกติทุกวันอังคารและพฤหัสบดี  และวันเกิดสาวไทยก็ตรงกับวันสอนภาษาพอดี เมื่อไปถึงก็รู้สึกว่า เด็กตั้งใจฟังมาก ในใจนึกว่า นี่คงเป็นของขวัญที่เด็กๆอยากจะให้กับคุณครูเป็นแน่ แต่พอสอนเสร็จ ก้าวออกมาพ้นประตูโรงเรียนเท่านั้น เด็กๆมากกว่า 10 คน ก็รุมกันเอาไข่ปาใส่และโรยแป้งในระยะประชิดทันที ด้วยความที่ต้องเดินเท้ากลับบ้าน ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นทราบกันหมดว่า วันนี้เป็นวันเกิดของสาวไทยในชุมชน 

คนเปรูบางบ้านจะมีประเพณีหนึ่งที่เรียกว่า “กอร์ตา เปโล่ อันดิโน่” เชื่อว่าเด็กผู้หญิงจะต้องไว้ผมให้ยาวและสลวย จากนั้นครอบครัวจะเลือกวันสำคัญในหนึ่งปีซึ่งอาจจะเป็นวันเกิดหรือวันอื่นๆก็ได้ โดยจะเรียกญาติ เพื่อนฝูงและคนรู้จักมาตัดผมเด็กคนละปอย แต่ก่อนจะตัดจะต้องจ่ายเงินถึงจะตัดได้ ประเพณีนี้เป็นเหมือนการรับขวัญเด็กของเปรู สายไหมซึ่งถูกชวนเป็นกรณีพิเศษ ทั้งที่ไม่มีเงินแต่ก็ได้รับเกียรติให้ตัดผมเด็กเพื่อรับขวัญด้วยเช่นกัน 

ส่วนวัฒนธรรมอีกประการที่ต่างกันคือ คนเปรูจะเสียความรู้สึกมาก หากถูกปฏิเสธเมื่อหยิบยื่นอาหารให้ใครก็ตาม ต่างกับคนไทยชอบปฏิเสธสัก1-2 ครั้งด้วยความเกรงใจ แต่นิสัยนี้ไม่ควรนำไปใช้ที่เปรูเด็ดขาด เพราะจะเป็นการทำลายน้ำใจคนท้องถิ่นทันที

ขีดจำกัดที่ทำให้มีความสุข

ความยากลำบากที่น้องสายไหมได้ที่สุดของสายไหม ไม่ใช่การปรับตัวแต่เป็นการค้นพบขีดจำกัดของตนเอง เพราะต้องเข้าทีมเต้น เพลงแรกที่เต้นคือ เพลงที่แสดงถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นชื่อ “จูนิน โทอิโร” เป็นเพลงที่ยากมาก ไม่ว่าไปแสดงงานใดก็จะต้องเต้นผิดทุกครั้ง เต้นจนถึงงานสุดท้ายก่อนจบการเป็นอาสาสมัครคือ ค่ายเยาวชนนานาชาติจัดขึ้นที่จตุรัส“ปลาซ่า เด อาร์มาส” กลางเมืองปูเอ็นเต ปิเอดรา เขตลิมา ที่มีคนมาร่วมงานกว่า 3,000 คน 

สายไหมพบขีดจำกัดของตัวเองและไม่อยากเต้นอีกต่อไป แต่อาจารย์ที่นั่นได้ให้คำแนะนำว่า ก็ให้ทำต่อไปและกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากเต้นด้วยจิตใจแบบใดที่มีต่อเปรู อยากจะให้อะไรกับเปรูเป็นครั้งสุดท้ายก่อนกลับไทย จึงค้นพบว่า ตลอดเวลาที่เธออยู่ที่เปรู เธอเป็นผู้ได้รับมาตลอด ตอนแรกคิดว่า การมาเป็นอาสาสมัครจะได้ช่วยเหลือผู้คน แต่กลับได้รับความช่วยเหลือและต้องเรียนรู้จากคนท้องถิ่นมากกว่า

ดังนั้น จึงต้องการที่จะขอบคุณคนเปรู เต้นผิดเต้นถูกไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป จนเมื่อวันงานมาถึงก็ขึ้นแสดงอย่างเต็มที่ เมื่องานจบก็มีเด็กผู้หญิงเปรูคนหนึ่งเดินมาขอจับมือแล้วพูดว่า ขอบคุณที่มาเปรู เธอได้รับจิตใจของสายไหมแล้ว พร้อมบอกว่า เธอเห็นสายไหมเต้นมาตั้งแต่แรก จนผ่านเรื่องราวมากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ สาวไทยจึงคิดได้ว่า หากไม่ได้ทำเพื่อตนเองแต่มีจิตใจเพื่อคนอื่น คำขอบคุณที่ต้องการบอกคนเปรูก็สามารถสื่อออกมาผ่านทางการกระทำโดยที่ไม่ต้องพูดได้