“ผู้นำการศึกษาไทย” ร่วมการประชุมระดับสากล ในงาน ‘IYF Education Forum ครั้งที่ 10’ เปิดมิติใหม่ด้านการศึกษาผ่านหลักสูตร Mind Education นำไปปรับใช้พัฒนาเยาวชน

  • บุคลากรทางการศึกษา 136 คน จาก 32 ประเทศ รวมตัวหารือ ปรับใช้ Mind Education ในระบบการศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชน
  • อาจารย์ซอง ฮวา โจ ประจำ IYF เมืองคยองซาน สาธารณรัฐเกาหลี พบบุคลากรจากประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อเยาวชน
  • ตัวแทนจากสถานศึกษาไทยลงนาม MOU หวังทำงานร่วมกับ IYF อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 21-28 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) จัดการประชุม IYF Education Forum ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ ‘The Digital Transformation Era: Mind Education is the Future.’ ณ ศูนย์ประชุม BEXCO เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับใช้ Mind Education เปลี่ยนแปลงเยาวชนและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในยุคที่ดิจิทัลก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยและบุคลากรด้านการศึกษา 136 คน จาก 32 ประเทศ ให้ความสนใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้

ในส่วนของบุคลากรจากประเทศไทย จำนวน 10 ท่าน ซึ่งตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สมาคมจิตวิทยาแนะแนว และ Smile Brain Potential and Language Development School

ต้อนรับผู้เข้าร่วมด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง ผ่านการแสดงเต้นวัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศ เช่น เคนย่า อเมริกา และฮ่องกง รวมถึงการแสดงจากโรงเรียนดนตรีเซโซรี และวงประสานเสียงอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Gracias Choir ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนเป็นอย่างมาก

 ในช่วงการดูงานนอกสถานที่ ผู้เข้าร่วมได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ที่เป็นต้นแบบของการใช้หลักสูตร Mind Education ในระบบการศึกษาจนเยาวชนจำนวนมากได้รับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยกิมชอน อีกหนึ่งสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ อีกด้วย

ช่วงการบรรยายพิเศษสำหรับผู้นำการศึกษาจากประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ซอง ฮวา โจ ประจำ IYF เมืองคยองซาน สาธารณรัฐเกาหลี มาบรรยายเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนมุมมอง’ ผ่านเรื่องของแอนดี้และบุตรคนเล็ก จากหนังสือยืนบนท้องทุ่งแห่งจิตใจ เนื่องจากหลายครั้งเราได้ใช้สายตาที่ผิดของเราในการมองเหตุการณ์ต่างๆ แต่หากเราได้ลองเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราอาจจะได้เห็นสิ่งใหม่ที่สวยงาม ดังเช่นที่ อาจารย์อ็อกซู พาร์ค ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้มองเยาวชนที่สังคมมองว่ามีปัญหาด้วยมุมมองใหม่ๆ จนพวกเขาได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากการฟังบรรยาย ผู้เข้าร่วมก็ได้มีการอภิปรายร่วมกันถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

อาจารย์อนุสรณ์ ถูสินแก่น คณบดีคณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ไปเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ว่า อันดับแรกตนเองรู้สึกประทับใจทีมงานที่ดูแลบริหารจัดการงานได้ดีมาก สำหรับ Mind  Education ครั้งนี้ ตนได้เห็นว่าปัญหาของเยาวชนไทย  ปัญหาของเยาวชนเกาหลี หรือ นานาชาติ ซึ่งมีปัญหาที่คล้ายกันในเรื่องของการควบคุมตนเองไม่ค่อยได้  ซึ่งมองว่า Mind Education นี้จะเป็นเครื่องมือที่ฝังลึกลงไปในใจของเด็กแต่ละคน ให้สามารถอยู่ในสังคมได้โดยการใช้ใจในการขับเคลื่อน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ใช้ใจทำงาน จะคงทนถาวรมากกว่าแค่ได้ความรู้  สุดท้ายอยากขอบคุณทีมงานทางเกาหลีที่ดูแลเราเป็นอย่างดี กิจกรรมต่างๆ ที่มอบให้ มีความตื่นเต้นมากในแต่ละวัน ถ้ามีโอกาสครั้งหน้า อยากจะไปอีกครั้งครับ

ดร.ธิรดา สุวัณณะศรี ประธานเครือข่าย SBI International Education Network และตัวแทนวิเทศสัมพันธ์ สมาคม จิตวิทยาแนะแนวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เข้าร่วมงาน Leader Conference และการประชุมผู้นำทางการศึกษา ที่มาจากหลายประเทศ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจตั้งแต่เช้าจนค่ำ ทั้งการประชุม ทำ MOU ร่วมกัน การอบรมเกี่ยวกับ Mind Education และชมการแสดงจากเยาวชนจากหลายประเทศทั่วโลก

ส่วนตัวประทับใจในเรื่องของ Mind Education ที่ทำให้เหล่าคณาจารย์ บุคลากรที่เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ แนวทาง กระบวนการ มุมมองใหม่ๆ ที่จะเข้าถึงเยาวชนมากขึ้น ตลอดจนการร่วมกันระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเยาวชนในเรื่องของจิตใจให้เติบโตงอกงามควบคู่ไปกับระบบการศึกษาในระดับนานาชาติยิ่งขึ้น

โดยจะนำความรู้เรื่อง Mind Education มาต่อยอดบุคลากรทางการศึกษา ที่ควรจะมีองค์ ความรู้ เข้าถึง เชื่อมโยงกับเยาวชนในระดับจิตใจได้ในอนาคต และนำองค์ความรู้มาบูรณาการในระบบการศึกษาไทยทั้งฝั่งบุคลากรและเยาวชนที่จะไปสู่การเป็นผู้นำระดับนานาชาติได้ด้วย

สำหรับท่านใดที่จะมาร่วมงานในครั้งถัดไปขอให้เตรียมตัวให้พร้อมเพราะกิจกรรมมีหลายวัน และท่านต้องมาเข้าร่วมให้ได้ เพราะการมาร่วมงานครั้งนี้เป็นประโยชน์ ทั้งด้านองค์ความรู้ และความร่วมมือระดับนานาชาติด้วยค่ะ สุดท้ายอยากจะขอบคุณ ทีมงานที่จัดเตรียมงานได้อย่างน่าประทับใจและดูแลได้ดีมาก ประทับใจมากค่ะ

ผศ.ดร.เกรียงไกร ผาสุตะ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างบางส่วนจากพระคัมภีร์ ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ซึ่งได้ยกตัวอย่างนักศึกษาที่มีปัญหาจากการเจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยดี ภายหลังเขาได้พบกับกับ อาจารย์อ็อกซู พาร์ค อาจารย์จึงได้สร้างกิจกรรมและให้คำแนะนำในการสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ สุดท้ายเขาสามารถเปลี่ยนตัวเองโดยการเปลี่ยนวิธีคิด และกิจกรรมในช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนความคิดใน 4 ประเด็นหลักกับคณะผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับนักศึกษาของสถาบันได้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณกิจกรรมดีๆ จากทางผู้จัดในช่วงบ่ายด้วยครับ

การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่บุคลากรจากหลากหลายประเทศทั่วโลกได้มารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับจุดแข็งและอุปสรรคการพัฒนาเยาวชนในยุคที่ดิจิทัลเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ นอกจากนี้ เพื่อการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนสถานศึกษาจากประเทศไทย จึงได้ลงนาม MOU ระหว่างสถานศึกษาของตนกับ IYF สาธารณรัฐเกาหลี IYF ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกิมชอนอีกด้วย