พวกคุณจำกันได้ไหมครับ? ตอนที่เริ่มขับรถใหม่ๆ คุณจะรู้สึกว่ามองอะไรก็ไม่ถนัด ทางก็แคบ ทำไมรถถึงคันใหญ่คับถนนแบบนี้ ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องมองซ้ายขวาหน้าหลังอย่างไร? มุมมองที่เห็นก็เป็นมุมแคบ เพราะคอยมองแต่ด้านหน้าอย่างเดียว แถมตอนเหยียบเบรกยิ่งแล้วใหญ่ ต้องคำนวณอะไรอีกเยอะแยะเพื่อให้ไม่ชน ไม่ให้กระชาก พอตกกลางคืนก็ยิ่งแย่ ต้องคิดอีกว่ารถแต่ละคันมาด้วยความเร็วขนาดไหน ควรจะออกไปดีหรือไม่? แยกแยะอะไรไม่ค่อยออก

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า “การขับรถเป็น” คือแค่รู้ว่าจะเหยียบเบรกตรงไหน เหยียบคันเร่งเมื่อไหร่ หรือจะต้องไปทางไหนเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่พอ เพราะการขับรถเป็นจริงๆ คือ… “คุณจะต้องตระหนักถึงคุณค่าชีวิตทั้งของตัวคุณเองและของผู้โดยสาร”

เพราะพวกเขาได้ฝากชีวิตไว้กับคนขับเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือความปลอดภัย จะต้องรู้จัก “การขับเพื่อป้องกันอันตราย” คนขับจะต้องรู้ว่าควรเหยียบเบรกเมื่อใด คือคำนวณอยู่เสมอ ถ้าหากอยู่ๆ เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมาจะเหยียบเบรกตอนไหนและทำอย่างไรนั่นเอง

สิ่งรองลงมาคือการทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายที่สุด เช่น หากผู้โดยสารหลับอยู่ก็พยายามขับให้นุ่มนวล ไม่เหยียบเบรกแรงหรือกระชาก แต่คนส่วนมากไม่คิดถึงเรื่องนี้ คิดแต่เรื่องขับรถอย่างเดียว ขับตามใจตัวเองไม่สนใจอย่างอื่น ไม่คำนึงถึงผู้โดยสารว่า “ถ้าเราขับรถแบบนี้ เขาจะรู้สึกไม่สบายรึเปล่านะ?

โลกของจิตใจก็เหมือนกัน โดยส่วนมากเวลาเราใช้ชีวิตไปก็จะเห็นความคิดของตนใหญ่โตมาก แล้วก็ใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ความคิดของเราจะเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เหมือนกับว่า…รถมันคันใหญ่คับถนนมาก ทำให้มักทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่สนเสียงของคนรอบข้าง วิ่งไปโดยไม่คิดถึงความเสียหายหรืออุบัติเหตุที่จะต้องเผชิญในอนาคต

แม้ว่าคนรอบข้างจะเตือนด้วยความหวังดีถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น แต่คนที่เป็นแบบนี้ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ฟัง พวกเขาจะมองว่า “มันยังไม่เกิดขึ้นเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดผลเสียแบบนี้ ต้องไปข้างหน้าก่อน ไปเจอสถานการณ์ก่อนสิ ถึงจะเชื่อ” แต่ถ้าไปเจออุบัติเหตุก่อนจริงๆ ถึงตอนนั้นก็กลับตัวทันไม่ทันแล้ว ใช้ชีวิตแบบนี้คล้ายเป็น “คนตาบอด”

คือเดินไปโดยไม่รู้ว่าทางข้างหน้าเป็นยังไง? พอชนเสร็จ ก็จะร้องอ๋อ!!…เพิ่งรู้ว่ามันคือเสาไฟฟ้า ตกท่อเสร็จก็เพิ่งรู้ว่าข้างหน้ามีอันตรายรออยู่ ปกติที่เกิดแบบนี้ขึ้น จริงอยู่มันเกิดจากความประมาท แต่ประมาทเพราะลึกๆ แล้ว ใช้ชีวิตโดยที่เชื่อแต่ตัวเอง ดูเหมือนว่าความคิดและความต้องการของตัวเองนั้นใหญ่โต สำคัญ ถูกต้องที่สุด จึงได้แต่เพิกเฉยต่อคำเตือนของคนรอบข้าง

ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ อีกหน่อยชีวิตก็ต้องเจออุบัติเหตุแน่นอน เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง มันจะเกิดจากที่เราต้องคิดและต้องระวังกับเรื่องหนึ่งๆ อยู่ แต่เรากลับมองข้ามและไม่สนใจ ยกตัวอย่างข่าวดังช็อควงการที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา นักแสดงสาววัย 28 ปี “เอมี อาเมเรีย จาคอป” อดีตมิสทีนไทยแลนด์ปี 2549 และผู้รับรางวัลอภิชาตบุตร รางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมถึงห้องพักข้อหามีสารเสพติดประเภทยาไอซ์และยาอีไว้ในครอบครอง

ผมอ่านข่าวจากข่าววันที่ 21 ก.ย. ในข่าวระบุว่าได้มีคนพูดตักเตือนหลายต่อหลายครั้ง เตือนแล้วเตือนอีก ตั้งแต่เดือน ก.พ. จนวันสุดท้ายก่อนจะโดนจับแต่ก็ไม่เป็นผล ผมเชื่อว่าทุกคนทราบดีถึงผลเสียนานัปการที่ตามมาในการเสพยา แต่เป็นเพราะไม่ตระหนักถึงคำเตือน และผลลัพธ์ที่จะตามมาจึงได้เสพยาเรื่อยๆ จึงถลำลึกจนในที่สุดก็พบหายนะ

เมื่อความคิดของตัวเองใหญ่โตและสำคัญที่สุด ก็จะทำให้ละเลยและไม่ได้ยินเสียงเตือนคนรอบข้าง ท้ายที่สุดก็พบกับอุบัติเหตุหรือความล้มเหลวในชีวิต ถูกจับ ถูกถอดจากตำแหน่งอภิชาตบุตร ถูกยกเลิกสัญญา ผมยกกรณี “คุณเอมี่” เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้นเอง เช่นกันครับเมื่อคุณใช้ชีวิตโดยไม่คิดถึงผลที่ตามมา คุณอาจจะคิดว่า…

“มันเป็นเรื่องเล็กๆ เอง ไม่เป็นไรหรอก” แต่มันเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุหรือล้มเหลวให้กับเราทุกคนที่ละเลยสิ่งเหล่านี้ หากคุณเชื่อว่าการกระทำนั้นสามารถทำลายชีวิตคุณได้จริงๆ และมีความกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็จะเหยียบเบรกและหยุดการกระทำนั้นลง ตอนนั้นเองที่คุณจะรู้จัก “การยับยั้งชั่งใจ และฟังเสียงของคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น”

เช่นเดียวกับที่คนคิดว่า “บุหรี่แค่มวนเดียวเดี๋ยวก็เลิกได้” เพราะมีจิตใจที่เชื่อว่าจะเลิกได้ จึงกล้าที่จะลอง เพราะคิดว่า “ลองได้ ก็เลิกได้” คนที่ยังจมอยู่ในอาการติด เพราะยังคิดว่าสิ่งนี้จะนำความสุขมาให้ตัวเอง หากย้อนกลับไปคิดนิดนึงจะพบว่า ถ้าบุหรี่เป็นความสุขที่แท้จริง ทำไมนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง บุหรี่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงหรือ?

ผมหวังว่าหลังจากได้อ่านบทความนี้ คุณจะกลายเป็นคนที่ “มองเห็นผลสุดท้ายและอันตรายข้างหน้า” จะได้หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในอนาคต ให้ความสำคัญในการรับฟังคนรอบข้าง และรู้จักเหยียบเบรกในเวลาที่เหมาะสมครับ

ที่มา : คอลัมน์มองเปลี่ยนมุม เดลินิวส์ โดย ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาจิตใจ

หากท่านสนใจโปรแกรมเยียวยาจิตใจ Healing Mind ออนไลน์ โดย ดร. ฮัก เชิล คิม สามารถสมัครได้ฟรี https://forms.gle/L7QPoEyJqqh4dub88