เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowships : IYF) ประจำประเทศไทย ได้จัดงาน Healing Mind ‘ไขหัวใจที่ถูกล็อก’ ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่ IYF Center รังสิต งานอบรมเรื่องจิตใจ ในหัวข้อ “การเยียวยาแก้ไขจิตใจ” เพื่อพัฒนาและแก้ไขจิตใจ พร้อมแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาด้านจิตใจจากหลากหลายมุมมอง โดยเริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้แข็งแรงผ่านทางหลักสูตร Mind Education และโปรแกรมชื่อว่า Mindset Academy ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน อาทิ โรคซึมเศร้า ความรัก ครอบครัว การเข้าสังคม และบาดแผลในจิตใจ มีการบรรยายที่สำคัญคือ เรื่องโลกของจิตใจ ที่เข้าถึงผู้คนมาแล้วทั่วโลก จากผู้บรรยายทั้งจากในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ ผู้ร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและผลักดันเป้าหมายขององค์กรด้วยการเริ่มต้นที่จิตใจ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายหลากสาขาอาชีพ ทั้งครู นักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไป ประมาณ 120 คน

เริ่มต้นด้วยการแสดงบนเวทีอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งการเต้นของทีม The Righteous Stars ซึ่งเป็นอาสาสมัครคนไทยและต่างชาติ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นคือรอยยิ้มที่สดใส เพื่อแสดงถึงจิตใจที่มีความสุข และการเต้นวัฒนธรรมธรรมนานาชาติ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และอเมริกาใต้ทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เอกลักษณ์ของประเทศ หรือทวีปนั้นๆ

ขณะที่ ละครเวทีที่มีด้วยกัน 3 เรื่องนั้น นอกจากจะให้ความสนุกและตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังแฝงด้วยแง่คิด และเรื่องโลกของจิตใจด้วย เช่น ละครเรื่องกิมจิ ที่ให้แง่คิดว่า กว่าที่จะกลายเป็นกิมจิที่แสนอร่อยนั้น ต้องถูกหมักเกลือ รีดน้ำ และเผชิญความเผ็ดร้อนจากพริก เปรียบเหมือนกับชีวิตของคนเราที่ต้องพบเจอกับปัญหาและความยากลำบากต่างๆ เพื่อทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งได้

Mind Sharing

ในช่วง Mind Sharing หรือการแบ่งปันประสบการณ์จริงของคุณแอน และคุณแต๋ม โดยเรื่องราวของคุณแอน มาในหัวข้อ ‘มองผิดไป’ ที่ทำให้เห็นถึงชีวิตคนหนึ่งคนที่มีเรื่องราวที่ดูเหมือนเป็นคนที่โชคร้าย เพราะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน และแม่ก็ติดเหล้า จนหลายครั้งที่เธออยากจะฆ่าตัวตาย แต่ผ่านทางเรื่องเหล่านี้คุณแอนได้กลับมาทบทวนคิดอีกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นจิตใจที่มองเรื่องราวในชีวิตผิดไป ส่วนเรื่องของคุณแต๋ม มาในหัวข้อ ‘โลกนี้ช่างโหดร้าย’ เพราะเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก พอเข้าเรียนก็ถูกคุณครูคนหนึ่งที่เธอให้ความเคารพมาก ลวนลาม ในจิตใจจึงมีแต่ความอับอายเต็มไปหมด ผ่านเรื่องราวของคุณแต๋ม ก็มีผู้เข้าร่วมบางคนที่เคยมีประสบการณ์ร้ายๆ คล้ายกัน ได้เห็นตัวเองว่า การเก็บเรื่องนี้เป็นความแค้นในใจคนเดียว สุดท้ายมันทำร้ายตัวเองอย่างไร ผ่านกิจกรรมนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นจิตใจของตัวเอง และกลับมามองชีวิตของตัวเองเหมือนกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเพราะจิตใจต่างหาก

แบ่งปันประสบการณ์ หัวข้อ ‘มองผิดไป’

Mind Talk

นอกจากนี้ เรายังเปิดโอกาสให้ทุกคนพูดเรื่องราวในจิตใจของตัวเองแบบส่วนตัวด้วย ผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า Mind Talk เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะบางคนมีบาดแผลจิตใจจากครอบครัว จึงไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย บางคนมีปัญหากับสามีหรือภรรยา ถึงขั้นหย่าร้าง ทำให้ลูกมีบาดแผลในจิตใจ บางคนก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากคำพูดหรือการกระทำของคนอื่น หรือมีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ และไม่รู้ว่าจะออกจากความทุกข์ทรมานนี้อย่างไร กิจกรรมนี้จึงเป็นเหมือนช่วงการระบายเรื่องราวในจิตใจที่ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานหลายคนรู้สึกประทับใจกับกิจกรรมนี้มาก เพราะได้ระบายความอัดอั้นในจิตใจ และได้รู้ว่าจิตใจของพวกเขากำลังไปในทิศทางไหน และต้องมีจิตใจอย่างไรในการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ที่ไม่ใช่การมองเพียงแค่ปัญหาเพียงด้านเดียว แต่ผ่านทางปัญหาที่กำลังเผชิญเราสามารถที่จะมีความสุข และก้าวข้ามผ่านไปได้ ผ่านคำแนะนำของผู้ให้คำปรึกษาส่วนตัวที่พูดคุยด้วย

Mindset Academy

ส่วนกิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ Mindset Academy มี 2 ฐาน คือ ฐานโรคซึมเศร้า และฐานความสัมพันธ์ ในส่วนของฐานความสัมพันธ์ ช่วงแรกจะให้เล่นเกมที่ชื่อว่า กายใจเป็นหนึ่ง โดยการให้แต่ละทีมทำท่าทางต่างๆ ตามคำบอกของผู้คุมเกม เช่น หัวใจ ปลา หรือจิงโจ้ เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนในทีมจะเลือกทำท่าทางไม่เหมือนกัน จุดประสงค์ของเราคือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ในแง่ต่างๆ เกิดจากการมีมาตรฐานเป็นของตัวเอง และอยากจะให้คนอื่นคิดหรือทำเหมือนกับเรา เมื่อคนอื่นไม่ได้คิด หรือทำเหมือนเรา ก็จะเกิดเป็นกำแพงขึ้นระหว่างกัน คนเข้าร่วมทั้งวัยผู้ใหญ่ และเด็กต่างก็ร่วมมือกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการเล่าประสบการณ์ตรงของคนที่เคยมีปัญหาในครอบครัว ทั้งในมุมมองคนคนเป็นพ่อ และคนเป็นลูก ในช่วงท้าย เป็นการทะลายกำแพง โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘การพูดคุย’ หรือ ‘การไหลเวียนจิตใจ’ กับคนอื่นที่ไม่รู้จัก เพื่อให้ได้นึกทบทวนจิตใจของตัวเอง และจิตใจของคนอื่น ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผ่านทางช่วงเวลาสั้นๆ เพียงสองวันนี้ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับมุมมองใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาได้รู้เรื่องราวของจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานขอการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ แม้จะต้องเผชิญปัญหา และอุปสรรคมากมายเท่าไหร่ก็ตาม