“ฟ็อกซ์” ชยธร สินสุริยะ หนุ่มวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น  ใฝ่ฝันจะไปสัมผัสชีวิตที่แดนอาทิตย์อุทัยและลองใช้ชีวิตแบบไม่ต้องคิดถึงเรื่องเงินหรือเรื่องเรียน แค่ใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น แต่จะแค่ไปเที่ยวก็ดูธรรมดาเกินไปจึงเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 13 เดือน (ธันวาคม 2560- มกราคม 2562) กับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) สัมผัสผู้คนและสังคมในมุมที่ไม่เคยพบมาก่อน และอีกมุมหนึ่งฟ็อกซ์มองว่า ที่ประเทศไทยมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเปิดโรงงานหรือสำนักงานอยู่มาก หากตนสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้คงมีประโยชน์ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หนุ่มฟ็อกซ์ไม่เคยเรียนภาษานี้มาก่อน ถึงขั้นคำว่า สวัสดีตอนเช้าและสวัสดีตอนเย็นยังจำสับสนกัน แต่ทางมูลนิธิฯก็สอนบทสนทนาพื้นฐานให้ก่อนไป จึงสามารถเอาตัวรอดได้ในเบื้องต้น

“ฟ็อกซ์” ชยธร สินสุริยะ (เป้แดง)

หนุ่มไทยได้ไปประจำที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อไปถึงก็ได้พบเพื่อนจากหลายประเทศ ทั้งจากยูเครน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์และเกาหลีใต้ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน คนของแต่ละประเทศก็มีนิสัยต่างกัน ปรับตัวเข้าหากันค่อนข้างลำบาก คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง กิจกรรมช่วงแรกที่ได้ทำคือการไปประชาสัมพันธ์งาน Peace Festival ซึ่งเป็นงานแสดงวัฒนธรรมของนักศึกษาที่เคยไปเป็นอาสาสมัครที่ต่างประเทศ ช่วงนั้นฟ็อกซ์ได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นไปในตัว หนุ่มไทยกล่าวว่า “จริงๆ เรายังพูดไม่ค่อยได้เลย ส่วนใหญ่ต้องจำบทสนทนาจากรุ่นพี่คำไหนที่เขาพูดบ่อยแล้วเราไม่รู้ก็ถาม บางครั้งก็ถามคนญี่ปุ่นเลย เราจับกลุ่มไปประมาณ 3-4 คน บางทีก็ไปขอรับการบริจาคเพื่อจัดค่ายหรือทำงานอบรมได้เงินมาจำนวนหนึ่ง เพราะว่าที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีกิจกรรมอาสาสมัครประเภทที่เราทำ เขาจึงสนับสนุนงานของเรา ก่อนวันจัดการแสดงจริง ผมออกไปแสดงในที่สาธารณะ ทั้งเต้นและร้องอะแคปเปล่า ส่วนวันแสดงจริงผมเป็นเจ้าหน้าที่จัดงาน คอยดูแลเรื่องอาหาร จัดสถานที่และเป็นทีมงานหลังเวที เรียกได้ว่า ทำทุกอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามากครับ”

สังคมที่มองหน้าแต่ไม่รู้ใจ

                หลังจากอาศัยที่ประเทศญี่ปุ่นมาสักระยะ ฟ็อกซ์มองว่า สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มองหน้าแล้วไม่รู้ใจ “เพราะเขาจะพยายามพูดเหมือนชีวิตไม่มีปัญหาอะไร แต่ในใจมีบาดแผลที่เก็บไว้คนเดียว ปัญหาสังคมญี่ปุ่นที่สัมผัสได้ชัดเจนคือ ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุ บางคนไม่ได้แต่งงาน ดังนั้นเมื่อถึงบั้นปลายชีวิตก็จะไม่เหลือใคร มีแค่ช่วงเย็นๆที่จะออกมาให้อาหารปลาและนกในสวนสาธารณะ เราก็จะออกไปพูดคุยและกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ ถามความเป็นอยู่  ถ้าเราถามว่าช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง? เหงาไหม? เขาจะบอกว่าไม่เป็นไร ทั้ง ๆ ที่แววตาเศร้ามาก เหมือนพยายามปิดบังอะไรอยู่ เราก็จะพูดคุยเรื่องจิตใจและนำกิจกรรมมาทำร่วมกันเรื่อย ๆ หนึ่งในกิจกรรมที่หนุ่มฟ็อกซ์ภูมิใจคือ ได้ทำชั่วโมง “สอนภาษาไทย” สอนไปด้วย ฟังในสิ่งที่เขาต้องการพูดไปด้วย ได้ความรู้ ได้รู้จักสังคมญี่ปุ่นมากขึ้นและได้ทำงานอาสาสมัครอย่างที่ตั้งใจไว้เต็มที่

                ฟ็อกซ์เล่าว่า “ส่วนมากได้คุยกับผู้สูงอายุและคนไร้บ้าน คนเหล่านี้ไม่ใช่ไม่มีเงินนะครับ รัฐบาลให้เงินสวัสดิการ แต่พวกเขาไม่ได้ใช้เงินในการหาที่อยู่ เพราะบ้างก็ติดสุรา ติดเบียร์ ตอนกลางคืนก็รอรับอาหารจากร้านสะดวกซื้อ เพราะทุกร้านจะแจกอาหารให้คนไร้บ้านตอนเที่ยงคืน ผมเคยถามพวกเขาว่า ทำไมไม่คิดจะหาเช่าบ้านล่ะ? พวกเขามองว่า ไม่รู้จะมีบ้านเพื่ออะไร แค่อยากจะใช้ชีวิตไปวันๆ ส่วนตัวผมคิดว่า คนเหล่านี้เหมือนจะน่าสงสารแต่อันที่จริงไม่เลย เพราะผมเองก็เคยเข้าไปพูดคุยกับคนพิการมามากพอสมควร พวกเขาสู้ชีวิต นั่งวีลแชร์ออกไปทำงานปกติ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป แต่คนไร้บ้านปัญหาพวกเขาคือ ไม่มีความหวังและหมดไฟที่จะสู้ชีวิตมากกว่า”

ผมได้ช่วยชีวิตคนกำลังจะฆ่าตัวตาย

                ประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุดคือ การเคยช่วยชีวิตคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย ผมออกเดินทางแบบแบ็คแพค ไม่ใช้เงินไปทำภารกิจที่เมืองเกียวโตกับเพื่อนๆต่างชาติ จู่ๆก็พบผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ที่หน้าโรงแรมเกียวโต คนๆนี้ยืนอยู่เฉยๆ ปล่อยให้คนเป็นร้อยๆ เดินผ่านตนไป ผมจึงเข้าไปคุยด้วย แต่พอเข้าไปใกล้ๆจึงรู้ว่า เขาตาบอด เมื่อถามว่าช่วงนี้มีเรื่องลำบากใจอะไรหรือไม่? เขาเริ่มน้ำตาคลอเบ้าและบอกว่า เขาเป็นคนไร้บ้าน ไม่ได้ตั้งใจจะขโมยอาหารในร้านสะดวกซื้อ เพียงแค่ต้องการอาหารประทังชีวิตอยู่ก็เท่านั้น แต่ถูกตำรวจจับ จึงเริ่มคิดว่า การมีชีวิตอยู่ของตนเป็น “ภาระของประเทศ” และไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป กำลังจะฆ่าตัวตาย ยืนตั้งใจฟังเสียงของรถที่ผ่านไปมา เพื่อจะเดินไปให้รถชน ผมก็อึ้งไปสักพัก ตอนนั้นจึงตัดสินใจพูดกับเขาว่า “คุณอาจจะมองไม่เห็น แต่ผมมองเห็น ตรงนี้คือจัตุรัสเกียวโต มีคนเยอะมาก มีทั้งคนสวย คนหล่อ คนที่แต่งตัวด้วยของแพงๆ แต่งตัวเหมือนคนจน แต่คนเหล่านี้ก็มีปัญหาเหมือนคุณ ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่มีปัญหา มันเป็นไปไม่ได้ที่แค่คนเรามีปัญหาและถึงขั้นต้องเป็นภาระของประเทศ หลังจากนั้นสีหน้าของเขาก็เปลี่ยน ไม่ว่าฟ็อกซ์จะพูดอะไรก็ฟัง เราก็ให้กำลังใจจนเขาบอกว่า อยากจะมีชีวิตต่อไป สุดท้ายเราก็ตะโกนคุยกันตรงนั้นว่า “ผมมีความสุข ผมมีความสุข….” ผมรู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิตจริงๆเลยครับ

                นอกจากนี้ การอยู่กับครอบครัวของอาจารย์ประจำศูนย์ที่เมืองฮิโรชิมาเป็นเรื่องที่มีความสุขมากสำหรับน้องฟ็อกซ์ เพราะอาจารย์จะสอนทุกสิ่งเหมือนเป็นพ่อแม่ เขายังส่งหนุ่มไทยเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นไปแข่งขันเต้นที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย ถึงแม้จะไม่ได้รางวัลแต่ได้ความประทับใจและได้รู้จักเพื่อนต่างชาติจำนวนมาก เมื่อได้นั่งรถบัสคันเดียวกับเพื่อนชาวแอฟริกัน หนุ่มไทยจึงสอนเพลงญี่ปุ่นให้พวกเขา แลกเปลี่ยนกับการสอนเพลงแอฟริกา เป็นวันที่มีความสุขอีกเช่นกัน

ลองเดินทางแบบไม่ใช้เงิน

                ฟ็อกซ์ท้าทายตัวเองด้วยการลองเดินทางไปต่างจังหวัดโดยไม่ใช้เงินกับเพื่อนๆชาวเกาหลีใต้และเมียนมาร์(แต่ไม่แนะนำให้คนไทยทำตาม เพราะสาเหตุที่ฟ็อกซ์ทำได้เนื่องจากมีกิจกรรมที่เตรียมไว้แล้วบ้าง) ครั้งแรกออกจากเมืองโอซากาไปเมืองโกเบ เมืองเกียวโต และเมืองนารา ภารกิจหลักๆ ของกิจกรรมนี้คือ การประชาสัมพันธ์โครงการอาสาสมัคร การเข้าไปพูดคุยเรื่องจิตใจและทำกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ หนุ่มไทยเล่าว่า “ส่วนมากผมจะคุยกับผู้สูงอายุ หรือคนที่สูบบุหรี่อยู่ เพราะเมื่อก่อนผมติดบุหรี่เหมือนกัน ผมรู้ว่าคนที่กำลังนั่งสูบบุหรี่อยู่ คือ คนที่อยากให้เวลามันผ่านไป เหงาหรือไม่มีอะไรจะทำ และก็ตามคาดคนเหล่านี้มีเวลาพูดคุยและช่วยเหลือเราเยอะมาก  แต่จากเมืองโกเบไปเมืองเกียวโต เป็นช่วงที่เดินทางยากมาก ไม่ค่อยมีรถยนต์ที่เดินทางระหว่างเมือง แต่สุดท้ายก็มีคนใจดีซื้อตั๋วรถไฟให้และให้เงินค่าอาหารมาด้วยหลังจากที่เราทำกิจกรรมเสร็จ  เราเดินทางไปที่เมืองนารา ได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นเยอะมากเพราะคนที่นั่นสนใจโครงการอาสาสมัคร และตั้งใจฟังเวลาที่เราอธิบาย พวกเขาบอกว่า คนต่างชาติส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นั่น จะไม่ค่อยมีคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ เมื่อเห็นต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องจึงชอบฟัง”

                ก่อนหน้านี้ผมมองว่า งานอาสาสมัครของเราไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนญี่ปุ่นเพราะประเทศนี้เป็นประเทศพัฒนามาไกลกว่าไทยมาก แต่จากการมาลงพื้นที่จริง ทำให้เห็นสิ่งที่เรามองว่าไม่มีปัญหา แต่อันที่จริงคนญี่ปุ่นก็มีปัญหาในจิตใจอยู่มาก การได้ออกไปพบปะพูดคุยเรื่องที่อยู่ในใจทำให้รู้ว่า จิตใจของคนในสังคม สำคัญพอๆกับการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ  

                ฟ็อกซ์กล่าวว่า คนไทยที่ผมรู้จักมักจะบอกว่า คนญี่ปุ่นเข้มงวด ตั้งใจทำงานสุดชีวิตและเปิดใจคุยเรื่องในใจยากมาก แต่ถ้าได้พูดคุยกับเขา คนญี่ปุ่นเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ดีมาก บางมุมก็เหมือนคนไทย ต่างกันแค่เขามีเป้าหมายแล้วต้องทำให้สำเร็จ ในขณะที่คนไทยยืดหยุ่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่า คิดว่าถ้าได้ทำงานร่วมกันจะสามารถเข้ากันได้ดีมาก แต่จะมีวัฒนธรรมสำคัญที่ต่างกันคือ ญี่ปุ่นมีระดับภาษาแบบสุภาพ ถ้าเราพูดสุภาพมาก ๆ เหมือนในบทเรียนกับคนญี่ปุ่นตลอด เขาจะมองว่าเรายังไม่สนิทกับเขา สุดท้ายเขาก็ไม่ยอมสนิทกับเราจริงๆ ดังนั้นถ้าเป็นคนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน สามารถพูดหยอกล้อหรือพูดคำหยาบใส่กันได้บ้างคนญี่ปุ่นไม่ได้เข้าถึงยากแบบที่เราได้ฟังๆกันมา สิ่งที่ได้รับคือ “เมื่อก่อนผมชอบดูถูกคนอื่น ไม่ค่อยให้เกียรติความคิดเห็นของพวกเขา แต่พอได้เป็นอาสาสมัครในประเทศที่เจริญ และมีความพร้อมมากกว่า มันทำให้เห็นว่าการรับฟังคนอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พอเราฟังเสียงของคนอื่นได้ และได้ยินหลายๆ เสียงรวมกัน นำมาคิด วิเคราะห์ร่วมกันแล้ว มันได้ผลดีมากกว่าการที่คนๆ เดียวจะคิด ตัดสินใจและลงมือทำทุกอย่างเอง”