ผจญภัยท้าทายตัวเองที่ “แทนซาเนีย”

หลายคนคงใฝ่ฝันที่จะเดินทางผจญภัยในต่างแดนสักครั้งในชีวิต เพื่อค้นพบตัวเองหรือเติมเต็มความฝัน โดยส่วนตัว“น้องฝุ่น” หรือ “ฐิติกร ต่วนชะเอม” บัณฑิตป้ายแดงจากคณะวิทยาการจัดการ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ท้าทายตัวเอง เดินทางออกจากโลกใบเดิมที่ประเทศไทย ไปเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) ที่ประเทศแทนซาเนียมาตั้งแต่ 3 ส.ค.2557 – 3ส.ค. 2558

เพื่อสัมผัสประสบการณ์ผจญภัยที่ล้ำค่า น้องฝุ่นได้ไปอยู่ที่เมืองท่าแห่งความเจริญที่สุดในแทนซาเนีย ชื่อดาร์-เอส-ซาลาม เป็นเมืองที่อยู่ติดมหาสมุทรอินเดีย เป็นเขตอุตสาหกรรม สินค้าส่วนมากหากจะขนส่งเข้ามาที่แอฟริกาตะวันออกก็ต้องมาผ่านที่ท่าเรือในเมืองนี้ ส่วนที่อยู่ของมูลนิธิฯ ก็ตั้งอยู่ริมทะเลที่หาด “อึมเบซิ บีช” เมื่อไปถึงวันแรก ชาวบ้านจะเข้าใจว่าฝุ่นเป็นคนจีน เรียกหนุ่มไทยว่า “ชิน่า” (China แต่ไม่อ่าน ไชน่า)เพราะที่นั่นมีคนจีนและอินเดียไปตั้งบริษัทเป็นจำนวนมาก เมื่ออาศัยอยู่ได้สักพัก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ผิวหนุ่มฝุ่นคล้ำลงเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงเข้าใจว่า ฝุ่นเป็นคนอินเดีย สักพักเมื่อผิวคล้ำแดดขึ้นไปอีก ทีนี้คนในท้องถิ่นเริ่มคิดว่าเป็นคนโซมาเลีย กลายเป็นคนแอฟริกาด้วยกัน อาสาสมัครที่อยู่ที่ศูนย์ไอวายเอฟแทนซาเนียประกอบไปด้วย เยาวชนจากประเทศไทย 2 คน เคนยา เปรู จีน 3 คน เกาหลีใต้ 6 คน บุรุนดีและเม็กซิโก

เริ่มความท้าทาย

ช่วงเดือนพ.ค.2558 อาจารย์ประจำมูลนิธิฯชาวเกาหลีใต้ได้เพิ่มความท้าทายให้อาสาสมัครด้วยการจัดค่ายอบรมเด็กระดับประถมศึกษา จำนวน 300 คน ขึ้นที่เมือง “อึมเบย่า” ใกล้ชายแดนประเทศมาลาวี หนุ่มไทยกับอาสาสมัครอีก 5 คน แบ่งเป็น ไทย เม็กซิโก เกาหลีใต้อย่างละ 1 คนและ จีน 2 คน เดินทางราว 1,000 กม.โดยไม่ใช่เงินชิลลิงแทนซาเนีย(TZS)โบกรถไปถึงที่นั่นเพื่อจัดค่ายดังกล่าวในช่วงพุธ-ศุกร์ ในตอนแรกฝุ่นคิดว่า เด็กๆคงซนมากและไม่ยอมเชื่อฟัง ไม่สนใจกิจกรรม แต่เมื่อทุกคนนั่งรถสองแถวไปจอดหน้าโรงเรียน ก็รู้สึกเหมือนเป็นซุปเปอร์สตาร์ เพราะเด็กๆวิ่งกรูกันเข้ามาให้ความสนใจมาก ปรบมือที่เดินทางเข้ามาที่โรงเรียนของพวกเขา

เมื่อกิจกรรมทุกอย่างจบเด็กบางส่วนไม่ยอมกลับบ้าน เอาแต่เดินตามอาสาสมัครเรื่อยๆจนทำให้พวกเขาต้องอาสาไปส่งเด็กๆที่บ้าน และมีโอกาสพบกับพ่อแม่ของเด็ก วันต่อมาผู้ปกครองบางส่วนจึงเชิญอาสาสมัครไปรับประทานอาหารที่บ้าน พร้อมให้การต้อนรับอย่างดี

ชาวบ้านเปิดใจว่า ตอนแรกพวกเขาไม่ชอบอาสาสมัครชาวต่างชาติเท่าไร เพราะคิดว่า คนผิวขาวมักมองว่า คนแอฟริกาต่ำต้อยกว่า ไม่มีวัฒนธรรม เห็นคนแทนซาเนียเป็นแค่ลูกจ้าง เข้ามาตักตวงผลประโยชน์และเงินเพียงอย่างเดียว แต่เมื่ออาสาสมัครเดินเข้ามาที่หมู่บ้านแล้วเข้ามาทักทายพวกชาวบ้านก่อน ทำให้ชาวบ้านแปลกใจและเปิดใจ ให้ที่พัก อาหาร รวมทั้งช่วยเหลือทุกๆอย่าง

ก่อนจะกลับประเทศไทยช่วงต้นเดือนส.ค.ทางมูลนิธิฯจะจัดค่ายเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น อาสาสมัครจึงต้องแบ่งทีมเดินทางไปตามต่างจังหวัดเพื่อไปประชาสัมพันธ์ค่ายที่กำลังจะมีขึ้น ด้วยความที่หนุ่มไทยประทับใจการเดินทางแบบไม่มีเงินเพื่อไปทำค่ายมาก จึงร่วมกับ“เจเค” หนุ่มเกาหลีคู่หู อาสาเดินทางไปทำภารกิจครั้งนี้ที่เมืองเล็กๆ 4 แห่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเริ่มด้วย เมืองลินดี นาชินเกว มาสาสิ และอึมทวารา เมืองเหล่านี้ห่างจากเมืองดาร์-เอส-ซาลาม ไปราว 700 กม. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก ฝุ่นต้องเดินทางไปที่สำนักงานวัฒนธรรมในเมืองนั้นๆและขออนุญาตประชาสัมพันธ์ค่าย โดยการติดโปสเตอร์และแจกใบปลิวภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์

ความท้าทายของคู่ดูโอ้ไทย-เกาหลีใต้สุดบ้าบิ่นครั้งนี้คือ พวกเขาไม่พกเงินไปเลยสักชิลลิงแทนซาเนีย(TZS)เดียว และโบกรถเดินทางไกลเพื่อไปยังเมืองที่ไม่รู้จัก 4 เมือง เมื่อออกจากตัวเมืองได้ 100 กม. ก็ต้องเปลี่ยนรถ แต่โชคดีเจอรถพ่วงบรรทุกอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งผ่านเมืองลินดีพอดี ฝุ่นคิดว่าจะไปถึงเมืองนี้ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ผ่านไปสักพัก คนขับต้องจอดพักรถและไปรับประทานอาหาร พวกฝุ่นที่ไม่มีเงินจึงได้แต่รอ เมื่อคนขับกลับมารู้ว่า อาสาสมัครที่ติดรถมาด้วยไม่มีเงิน จึงขายน้ำมันที่อยู่ในรถเพื่อซื้ออาหารให้ และคืนนั้นยังอนุญาตให้สองหนุ่มนอนบนรถและจ้างรปภ.มาตรวจตรารักษาความปลอดภัยให้อีกด้วย

อันที่จริงคนขับรถพ่วงไม่ได้เป็นคนรวย แต่ด้วยความที่คุยกันถูกคอ จึงได้ช่วยเหลืออย่างต่างชาติอย่างเจเคและฝุ่นอย่างจริงใจ ในที่สุดก็มาถึงเมืองลินดี แต่เจ้าหน้าที่ที่พวกเขาจะต้องไปหากลับถูกย้ายไปแล้ว คนแถวนั้นอยากช่วยแต่ก็ไม่ทราบจะทำเช่นไร จึงได้แต่พาดูโอ้เกาหลี-ไทยไปหาตำรวจเพื่อขอที่พัก ทำให้ตำรวจวุ่นวายแตกตื่น เพราะไม่เคยเจอเรื่องเช่นนี้มาก่อน แต่จนแล้วจนรอดจึงให้พวกฝุ่นไปนอนที่เกสเฮ้าส์ และได้ทำภารกิจประชาสัมพันธ์แคมป์ในวันถัดมา

เมื่อเสร็จสิ้นจึงได้เร่งเดินทางไปเมือง “นาชิงเกว”ต่อ แต่ที่นี่ดีหน่อย เพราะมีบ้านของสมาชิกมูลนิธิฯอยู่ด้วย ที่แตกต่างคือต้องติดโปสเตอร์ตามต้นมะม่วงริมถนน เพราะนี่คือบอร์ดประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้าน พอติดเสร็จกลับมาดู ปรากฎว่า โปสเตอร์หาย เพราะชาวบ้านให้ความสนใจมาก วิ่งมาดูเกือบทั้งหมู่บ้าน ฝั่งฝุ่นไล่ติด ชาวบ้านก็ไล่เก็บจนหมด

นอกจากนี้ คนท้องถิ่นยังพาเจเคและฝุ่นไปลุยรับประทานผลไม้ในสวนอีกด้วย พวกเขาพักอยู่ที่เมืองนี้ 2 วัน จากนั้นจึงโบกรถเดินทางต่อไปยังเมือง “มาสาสิ” ที่อยู่ติดกัน คราวนี้เจเคและฝุ่นได้ขึ้นรถเมล์ แต่ด้วยสภาพเส้นทางที่ทุรกันดาร เมื่อรถเจอหลุมใหญ่ๆก็ตกกระแทกจนเครื่องดับ ชาวบ้านที่อยู่บนรถที่ส่วนใหญ่เป็นแม่ค้า/พ่อค้าหอบไก่เป็นๆ ผักและเสื้อผ้าไปขายในพื้นที่ของตน ต้องลงมาช่วยกันเข็น เป็นแบบนี้หลายรอบ นับว่าเป็นการเดินทางที่ทุลักทุเลที่สุดในชีวิตหนุ่มไทยเลยก็ว่าได้ ช่วงที่เดินทางไปพักตามเมืองต่างๆก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนแทนซาเนียอย่างแท้จริง ได้เห็นชาวบ้านทำการเกษตร ทำอาหารพื้นเมืองที่ชื่อว่า “มันดาซี” หรือปาท่องโก๋สไตล์แอฟริกาเพื่อนำไปขาย

“มันดาซี” หรือปาท่องโก๋สไตล์แอฟริกา

ทีนี้ภารกิจต่อไปคือต้องเดินทางไปเมืองสุดท้ายคือ “อึมทวารา” ไปหาประธานนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่นั่น เพื่อทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ค่ายให้กับนักศึกษาจนทั้งสองได้เผยแพร่วัฒนธรรมของชาติตนเอง นอกจากนี้ ยังประธานนักศึกษายังได้พาต่างชาติทั้งสองไปเที่ยวทะเลที่อยู่ใกล้ๆมหาวิทยาลัยอีกด้วย ขากลับทั้งคู่ก็โบกรถและมีตำรวจช่วยไปตลอดทาง ได้อาศัยรถพ่วงวิ่งข้ามเมืองอีกเหมือนเดิม แต่ใช่ว่า ทุกอย่างจะราบรื่นเพราะขากลับทั้งฝุ่นและเจเคไม่ได้รับประทานอาหารเลยเป็นเวลา 2 วัน การเดินทางโดยไม่ใช้เงิน ไปทำภารกิจพร้อมได้ไปเที่ยว ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องที่อันตราย หากไม่รู้จักคนที่นั่นหรือคุ้นเคยกับภูมิประเทศไว้บ้าง ส่วนตัวฝุ่นสามารถพูดภาษาสวาฮิลีได้ จึงสามารถสื่อสารได้ ทำให้เอาตัวรอดในสถานการณ์เลวร้ายได้หลายหน

น้ำใจและการใส่ใจของคนแทนซาเนีย

การเดินทางสุดท้าทายครั้งนี้ ทำให้หนุ่มไทยเห็นน้ำใจและการเอาใจใส่ของคนแทนซาเนีย แม้เจเคและเขาเองจะไม่มีเงิน อาหาร ที่พัก และรถ แต่คนท้องถิ่น ก็ใส่ใจแม้กระทั่งกับคนที่ไม่รู้จัก ในทางกลับกันแต่เดิมฝุ่นเป็นคนที่ใช้ชีวิตไม่ค่อยใส่ใจคนอื่น เป็นเด็กผู้ชายที่เมื่อตอนอยู่ที่บ้านก็ไม่ค่อยคุยกับคนในครอบครัว แต่การไปทริปนี้จะต้องคุยและเข้าหาชาวบ้านก่อน ผู้คนจึงจะให้ความช่วยเหลือ เมื่อกลับมาไทยจึงเปลี่ยนแปลง เริ่มที่จะคุยกับคนอื่นก่อน และยังต้องขอบคุณเจเคที่เป็นเหมือนเพื่อนตาย เมื่อลำบากก็พูดแลกเปลี่ยนจิตใจกัน ทำให้ไม่ยึดติดกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ถ้าหากฝุ่นอยู่คนเดียวก็คงจะพบขีดจำกัดของตัวเองและยอมแพ้กับสถานการณ์ไปแล้ว