การไหลเวียนจิตใจคือการที่เราได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจของเราออกมาให้คนรอบข้างได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งเปิดใจที่จะรับสิ่งที่อยู่ในใจของอีกฝ่ายด้วย

หลายปีที่ผมทำงานใกล้ชิดกับ “คนไทย” มานาน ผมสังเกตว่ามีนิสัยหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่น ของ “คนไทย” คือ “ไม่ค่อยพูดสิ่งที่อยู่ในใจอย่างตรงไปตรงมา” โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว เช่น ไม่กล้าบอกรักเพราะรู้สึกเขิน หรือเมื่อมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นก็เก็บไว้ไม่กล้าบอก รวมทั้งเวลามีความขัดแย้ง ไม่พอใจ หรือโกรธ ก็มักเลือกที่จะอดทนมากกว่าพูดสิ่งที่อยู่ในใจอย่างตรงไปตรงมา เพียงเพราะกลัวว่าจะทะเลาะกับอีกฝ่าย

แต่การไม่พูดกันเช่นนี้ หลายครั้งทำให้เกิดปัญหาใหญ่โตตามมา นิสัยลักษณะนี้อันที่จริงไม่ได้มีแต่ “คนไทย” หรอกครับ หลาย ๆ คนบนโลกนี้ก็เป็น ผมรู้จักกับนักศึกษาเกาหลีใต้ ชื่อ “จอง ออนยัค” ตั้งแต่เด็ก ๆ ครอบครัวของเขามีปัญหาหนี้สิน ความเป็นอยู่จึงค่อนข้างลำบาก ในตอนนั้นเขาไม่เข้าใจและได้แต่เก็บความไม่พอใจที่พ่อแม่ไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าดี ๆ หรือซื้อรถดี ๆ ให้นั่งได้แบบพ่อแม่ของเพื่อนคนอื่น ความไม่พอใจที่มีเริ่มหนักขึ้น ครั้งหนึ่งเขาทะเลาะกับน้องชาย แต่พ่อกลับดุว่าเขาคนเดียวและพ่อก็ชอบเรียกน้องว่า “ลูกชายที่รักของฉัน” อยู่บ่อย ๆ แต่กลับไม่เคยเรียกเขาแบบที่เรียกน้องเลยสักครั้ง ทำให้ “ออนยัค” เข้าใจว่าพ่อไม่รักเขาและปิดใจกับพ่อเรื่อยมา

ชีวิตในช่วงมัธยมต้น เขามักมีปัญหากับพ่อแม่ เมื่อรู้สึกว่าตนไม่เป็นที่รัก จึงคิดไปว่าพูดอะไรไปพ่อแม่ก็คงไม่ฟัง สุดท้ายก็ทะเลาะกันอยู่ดี จึงเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า เมื่อต้องเก็บทุกอย่างไว้ในใจ ทำให้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในบ้านด้วยกันกับครอบครัว แต่กลับรู้สึกอึดอัดและโดดเดี่ยวมาก

จนกระทั่งช่วงมัธยมปลาย “ออนยัค” ระหว่างชั่วโมงบรรยายเรื่อง “โลกของจิตใจ” (Mind Lecture) คุณครูได้อธิบายเกี่ยวกับ “การไหลเวียนของจิตใจ” ทำให้มุมมองของเขาต่อการพูดเรื่องที่อยู่ในใจได้เปลี่ยนไป

คุณครูได้เปรียบเทียบว่า “หากน้ำในสระได้ไหลเวียน น้ำก็จะใสสะอาด ต้นไม้และดอกไม้ที่อยู่ริมสระก็สามารถงอกงาม สัตว์น้อยใหญ่สามารถมาอาศัยดื่มกินได้อย่างมีความสุข บริเวณนั้นจะกลายเป็นภาพที่สวยงามเช่นเดียวกับจิตใจของคน หากได้ไหลเวียนซึ่งกันและกัน ก็จะสวยงามและมีความสุข”

ในทางกลับกัน หากน้ำไม่สามารถไหลเวียนไปที่ไหนได้ จะเกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกและในที่สุดก็เน่าเหม็น หากมีความขัดแย้ง โกรธ เกลียดหรือปัญหาอื่น ๆ เข้ามาในใจ แล้วเรากักเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้ ไม่พูดถึง ไม่ระบาย ทำเป็นลืม ก็เหมือนจิตใจไม่ได้ไหลเวียน สภาพใจแบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากสระน้ำที่เน่าแล้ว เจ้าของจิตใจก็จะไม่มีความสุขหรือรู้สึกขอบคุณอะไรไม่ได้เลย

คุณครูจึงมอบหมายภารกิจให้นักเรียนทุกคนโทรหาพ่อแม่ เพื่อให้บอกรักและขอบคุณ นักเรียนหลายคนอิดออด แต่คุณครูก็ผลักดันโดยชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ จะต้องเสียดายที่จิตใจไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง

เด็กที่ชื่อ “ออนยัค” จึงโทรหาพ่อ อึกอักอยู่นาน แต่ท้ายที่สุดก็รวบรวมความกล้าทั้งหมด แล้วบอกพ่อไปว่า “รักพ่อนะครับ และขอบคุณพ่อที่ดูแลผมเสมอมา” แล้วก็รีบตัดสายทันทีเพราะเขินมาก ๆ เมื่อเขากลับบ้านไปวันนั้น แม่ได้เล่าให้ฟังว่า “ลูกรู้ไหมตั้งแต่แม่ใช้ชีวิตแต่งงานกับพ่อของลูกมาเกือบ 20 ปี ไม่เคยเห็นวันไหนที่พ่อดูมีความสุขมากเท่ากับวันที่ลูกโทรหาเขาเลย พ่อยิ้มจนปากแทบจะฉีกทั้งวันเลยนะ”

แม้ “ออนยัค” จะไม่ได้ยินพ่อเรียกเขาว่า “ลูกชายที่รักของฉัน” แต่สิ่งที่แม่เล่าให้ฟังก็ทำให้เขารับรู้จิตใจของพ่อได้อย่างชัดเจนแล้วว่าพ่อรักเขามากแค่ไหน ที่ผ่านมาเขาเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าพ่อไม่รักเขา ทำให้ต้องเสียเวลาอยู่กับความอึดอัดและโดดเดี่ยวถึง 17 ปี เมื่อได้รับรู้ถึงจิตใจของพ่อแล้ว ความอึดอัด โดดเดี่ยวที่มีก็หายไปโดยไม่รู้ตัว

หลังจากนั้นจึงได้มีโอกาสบอกรักพ่อแม่บ่อย ๆ และบางครั้งเมื่อมีความขัดแย้ง หรือไม่พอใจกับสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือทำ ก็สามารถบอกความรู้สึกและถามออกมาตรง ๆ เพื่อรับคำอธิบายได้ ไม่เข้าใจกันผิดอีก ความสุขก็กลับเข้ามาในครอบครัวเมื่อจิตใจของคนในครอบครัว “ออนยัค” ได้ไหลเวียนซึ่งกันและกัน ตอนนี้เวลามีใครถามว่า “ครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง?” ดูเหมือนว่า “มีความสุข” จะเป็นคำเดียวที่เขาสามารถใช้อธิบายได้

คุณผู้อ่านล่ะครับ วันนี้คนรอบข้างของคุณเป็นอย่างไรบ้าง และจิตใจของพวกคุณกำลังเป็นสระน้ำแบบไหนครับ?

ที่มา : คอลัมน์มองเปลี่ยนมุม เดลินิวส์ โดย ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาจิตใจ

หากท่านสนใจโปรแกรมเยียวยาจิตใจ Healing Mind ออนไลน์ โดย ดร. ฮัก เชิล คิม สามารถสมัครได้ฟรี https://forms.gle/L7QPoEyJqqh4dub88