IYF ลุยจัด Education Leaders Forum 3 จังหวัด แนะนำหลักสูตรจิตใจ
ปรับใช้กับเยาวชนยุคปัจจุบัน

  • IYF จัดงานสัมมนาผู้นำการศึกษา 3 จังหวัด ส.ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะผู้บริหารและบุคคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมกว่า 550 คน
  • แนะนำลินคอล์น เฮาส์และ หลักสูตร Mind Education ผ่านการทำกิจกรรมห้องเรียนจำลองและการฟังบรรยายจากผู้อำนวยการโรงเรียนฯ
  • ผู้เข้าร่วมประทับใจ สนใจจะพิจารณานำหลักสูตรไปปรับใช้ในหน่วยงาน และสนใจทำงานร่วมกับ IYF ต่อไป

มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship: IYF)  ได้จัดงานสัมมนาผู้นำทางการศึกษา Education Leaders Forum: ELF  ขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 24 – 29 พฤษภาคม 2567 เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของบุคลากรทางการศึกษา และร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาไทยให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านหลักสูตร Mind Education หรือหลักสูตรเรื่องโลกของจิตใจ ที่สามารถพัฒนาเยาวชนได้อย่างยั่งยืน งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก บุคคลสำคัญ เข้าร่วมงานมากมาย อาทิ นายวีรวุธ รักเที่ยง ส.ส.กทม. เขตหนองจอก พรรคก้าวไกล นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยตลอดทั้ง 3 วัน รวมผู้บริหารและผู้นำด้านการศึกษาจากทั้ง 3 จังหวัดเข้าร่วมงานกว่า 550 คน

เริ่มต้นสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมด้วยการแสดงดนตรีจากอาสาสมัครในมูลนิธิฯ และการแสดงเต้นจากนักเรียนโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงผ่านการเรียนรู้ภายใต้หลักสูตร Mind Education เช่นกัน

 

ในช่วงของการบรรยายแนะนำหลักสูตร ดร.กิตติมศักดิ์ ฮักเชิล คิม ผู้อำนวยการโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ได้บรรยายในหัวข้อ “จิตใจเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน” ผ่านเรื่องราวของบุคคลสามคนที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงผ่านความเชื่อของคนใกล้ตัว คนแรกคือ โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อดัง ที่มีวัยเด็กที่ขมขื่น เนื่องจากคนรอบตัวต่างก็มองว่าเขาเป็นคนที่มีพัฒนาการช้า มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เชื่อว่าเขาเป็นอัจฉริยะคือคุณแม่ของเขา ด้วยความเชื่อของคุณแม่ทำให้เอดิสันกลายเป็นคนที่สามารถประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาได้ แม้ว่าตนเองจะต้องเผชิญกับความล้มเหลวมากมาย เขากลับมองว่ามันคือการค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผล มันไม่ใช่ความล้มเหลว

นอกจากนี้ ดร.ฮักเชิล คิม ยังยกตัวอย่างบุคคลอีกสองคนก็คือ กอล์ฟ อาสาสมัครในมูลนิธิฯ และ น้องแม้ว นักเรียนโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง จากเด็กหนุ่มที่ติดยาเสพติด เป็นโรคซึมเศร้า และมีประวัติก่อคดี กลายเป็นบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันและคอยส่งต่อความหวังให้กับผู้อื่น ผ่านการมีผู้ดูแลที่เชื่อในตัวพวกเขา ดร.พาร์ค อ็อกซู ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้บอกว่า “กอล์ฟเป็นดวงดาว” และ ดร.ฮักเชิล คิมได้บอกว่า “แม้วเป็นเหมือนผีเสื้อ” โดยอาจารย์ทั้งสองไม่ได้มองสภาพปัจจุบันที่เขาเป็นอยู่ว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่มองว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนเมื่อได้รู้จักกับเรื่องโลกของจิตใจ จนปัจจุบันนี้ พวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงและได้มีชีวิตที่สวยงามแล้วจริง ๆ       

ต่อมาเป็นการแนะนำโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ และระบบการเรียนการสอน ที่นอกเหนือจากวิชาพื้นฐานแล้ว ทางโรงเรียนก็ยังมีกิจกรรมนอกหลักสูตรให้นักเรียนเข้าร่วมอีกด้วย เช่น การเรียนรู้วัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ การทัศนศึกษา และสิ่งที่ทำให้โรงเรียนของเราแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ก็คือ การสอนเรื่องโลกของจิตใจเพื่อให้เด็กได้รู้จักกับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงโดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่เรียกว่าจิตใจ ซึ่งคุณครูทุกคนต่างก็มีใจในการสอนเด็กๆ แบบเดียวกันคือ ไม่ว่าตอนนี้นักเรียนจะเป็นอย่างไร แต่คุณครูเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นผู้นำที่จะพัฒนาประเทศไทย

สำหรับช่วงเรื่องเล่านักเรียนโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ น.ส.ธนพร สาระเจริญ (น้องแพรว) ได้ออกมาแบ่งปันเรื่องราวชีวิตของตนเองว่า ตนเคยรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักและมักเปรียบเทียบตัวเองกับพี่สาวที่เรียนเก่งกว่าอยู่เสมอ ทำให้รู้สึกไม่ชอบคนในครอบครัว แรกๆ ก็คิดว่าอยากจะพยายามเรียนให้เก่งเหมือนพี่ แต่เมื่อเห็นว่าตนไม่สามารถทำได้จึงประชดครอบครัวด้วยการหนีเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน หนีออกจากบ้าน ใช้ชีวิตไปอย่างไม่มีความหวัง จนกระทั่งได้มาเจอกับโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ที่สอนเรื่องโลกของจิตใจ เมื่อได้พบกับคุณครูเปิดใจ ตนจึงกล้าที่จะเปิดใจกับคุณครู และได้เข้าใจว่าจิตใจของตัวเองเหมือนมีน้ำเน่าขังอยู่ และการไหลเวียนจิตใจระหว่างกันก็ช่วยให้น้ำใจในมันใสสะอาดขึ้นได้

“นอกจากการเข้ามาเรียนในโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์จะทำให้มีความฝันใหม่ๆ การเรียนเรื่องโลกของจิตใจก็ยังช่วยทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นอีกด้วยค่ะ” น้องแพรว กล่าว

กิจกรรมห้องเรียนจำลอง เป็นการสาธิตการสอน Mind Education ให้กับนักเรียนลินคอล์น เฮาส์ โดยครั้งนี้จะเน้นเรื่องความสำคัญของการสื่อสารในความสัมพันธ์ ผ่านการทำกิจกรรมวาดรูปด้วยการสนทนา โดยแบ่งเป็นการวาดรูปแบบให้สื่อสารฝ่ายเดียวและการพยายามสื่อสารกันทั้งสองฝ่ายเพื่อชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีคนเรารู้จักสื่อสารซึ่งกันและกันจะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “การไหลเวียนจิตใจ” นั่นเอง

เนื่องจากที่ผ่านมีองค์กรภายนอกมากมายเข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมกับผู้นำทางการศึกษาถึง 3 จังหวัดด้วยกัน จึงได้มีการพูดคุยหารือถึงการทำงานร่วมกันทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ซึ่งผู้นำทางการศึกษาทุกคนได้ลงความเห็นว่า จะพิจารณานำหลักสูตรของเราไปปรับใช้กับหน่วยงานของตน เนื่องจาก หลักสูตร Mind Education เป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเยาวชนไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผู้นำด้านการศึกษายังสนใจไปศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ณ เมืองแดดอก สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นต้นแบบของการใช้หลักสูตร Mind Education ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

บทสัมภาษณ์

นายวชิรวิทย์ ชุติมาสังสกุล จาก โรงเรียนวัดสุทธาวาส สังกัด สพป.ชลบุรี เขต 3

กล่าวว่าโครงการ Mind Education น่าสนใจและเหมาะสำหรับนำมาจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนของตน กิจกรรมที่ตนประทับใจคือห้องเรียนจำลองที่ให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันและสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการไหลเวียนจิตใจกันเป็นสิ่งที่สำคัญ  Mindset ที่ได้จากการฟังบรรยาย คือเรื่องการฟัง เราต้องรู้จักที่จะฟังคนรอบข้างให้มากขึ้น ตนกล่าวว่าอยากจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดที่โรงเรียนโดยจัดกิจกรรมที่ช่วยปรับพฤติกรรมให้กับนักเรียนและ สุดท้ายนี้ตนมองว่ากิจกรรม  Mind Education สามารถที่จะนำไปใช้กับทุกโรงเรียนได้แน่นอนครับ

นายอาทร ธูปทอง รองผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งศุขลาพิทยา“กรุงไทยอนุเคราะห์”

ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้ว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น และยังสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนานักเรียนให้ดีขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งกิจกรรมที่ประทับใจมากที่สุดคือกิจกรรมตอบคำถามที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการสื่อสารกัน ทำให้เรามองเห็นปัญหาและเข้าใจกันมากขึ้น สามารถลดปัญหาของความไม่เข้าใจกันได้มากขึ้น สุดท้ายรู้สึกว่ากิจกรรมต่างๆ ในวันนี้สามารถนำไปต่อยอดปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนให้นักเรียนได้มีโอกาสในการสื่อสารกับครูได้มากยิ่งขึ้น จะช่วยลดปัญหาระหว่างคุณครูกับนักเรียน และนักเรียนมีโอกาสเปิดใจกับคุณครูมากยิ่งขึ้น

นายอโนทัย เจริญยิ่ง ครูฝ่ายปกครอง โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ วิทยาเขตบางนา กล่าวว่าทางผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนได้แนะนำให้ตนมาเข้าร่วมเพื่อจะนำสิ่งที่ได้รับไปต่อยอดที่โรงเรียน ตนรู้สึกชอบกิจกรรมในงาน Mind Education เพราะช่วยปรับ Mindset ของนักเรียนให้พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ ช่วงฟังบรรยายตนได้รับ Mindset ใหม่ๆ จากเรื่องราวของโทมัส เอดิสัน คนที่เคยล้มเหลวมากกว่าหนึ่งหมื่นครั้ง แต่เขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้เพียงแค่เปลี่ยนความคิดของตัวเองและฟังเสียงของคนอื่น สุดท้ายนี้ตนอยากจะนำกิจกรรมในงานไปปรับใช้ที่โรงเรียนและแนะนำโรงเรียนลินคอล์น เฮาว์ กับนักเรียนของตนในการมาศึกษาต่อเพราะตนเห็นว่าหลักสูตรทางโรงเรียนมี คือการเน้นการเรียนการสอนเรื่องจิตใจเพื่อให้นักเรียนสามารถที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดกับความยากลำบากและสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญครับ