“ถ้าฉันจะตายในเร็ว ๆ นี้ ฉันจะทำอะไรก่อนดี” ประโยคสั้น ๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิด ผลักให้คนป่วยคนหนึ่ง ลุกขึ้นจากความสิ้นหวังสู่ชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง วัยรุ่นตะลุยโลกสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องราวการผจญภัยในต่างแดนของนิว หรือ นายศักราช พรหมปัญญา บัณฑิตป้ายแดงจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาครุศาสตร์วิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกเดินทางไปเป็นอาสาสมัครในประเทศฟิลิปปินส์กับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (ไอวายเอฟ) เป็นเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ถึง เดือนกันยายน 2561

ผมเป็นโรคที่รักษาให้หายไม่ได้

                ช่วงเวลาก่อนเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนั้น นิวใช้ชีวิตเหมือนนักศึกษาทั่วไปที่ตั้งใจเรียน และหวังจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคงหลังเรียนจบ แต่ความหวังทุกอย่างต้องพังทลายลงเมื่อนิวล้มป่วยกระทันหันในช่วงปีสุดท้ายของการเรียน ด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในช่วงแรกที่อาการกำเริบนั้น นิวต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 2 สัปดาห์ อาการหนักถึงขั้นควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หลังออกมาจากโรงพยาบาลก็ต้องเดินทางไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการอยู่เสมอ ตอนนั้นนิวคิดถึงแต่ความตายและเชื่อว่าตัวเองจะต้องตายในเวลาอีกไม่นาน แต่ก็รู้สึกเสียดายหากต้องจากไปโดยที่ยังไม่รู้จักคำว่าประสบการณ์ชีวิตด้วยซ้ำ จากนั้นเขาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครต่างประเทศ โดยเลือกเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยความหวังว่าหากกลับมาแข็งแรงได้ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทักษะภาษาอังกฤษที่ต้องพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน หรือหากกลับมาแล้วอาการป่วยแย่ลงจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติก็จะไม่เสียดาย เพราะถือว่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งก็เคยออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ออกไปท่องโลกกว้างอย่างคนอื่นบ้าง

ลุยเดี่ยวไปฟิลิปปินส์

                หลังจากเตรียมตัวเตรียมใจเรียบร้อย นิวก็ออกเดินทางแบบลุยเดี่ยว เป็นคนเดียวในรุ่นที่เลือกไปประเทศฟิลิปปินส์ ความท้าทายอย่างแรกที่ต้องเจอจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร นิวประจำอยู่ที่ศูนย์ไอวายเอฟในเมืองเกซอนซิตี (Quezon City) อดีตเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ศูนย์ที่นี่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีนักศึกษาฟิลิปปินส์พักอยู่ด้วย วันแรกที่ไปถึงมีคนออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น นิวทักทายพวกเขาด้วยการยกมือไหว้พร้อมพูดว่า “สวัสดีครับ” เพราะตื่นเต้นจนลืมว่าตัวเองไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยแล้ว

นอกจากนิวแล้วยังมีเพื่อน ๆ อาสาสมัครจากเกาหลีใต้ แม็กซิโก เวียดนาม และมองโกเลีย รวมทั้งหมด 9 คน ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีภาษาของตัวเอง แต่พวกเขาต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกันในแต่ละวัน จึงเหมือนเป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษไปในตัว ใช้เวลาเพียงไม่นาน พวกเขาก็เริ่มสื่อสารและเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี

                กิจกรรมแรกที่นิวได้เข้าร่วมถือเป็นกิจกรรมประจำปีเลยก็ว่าได้ นั่นคือการแสดงละครเวทีคริสต์มาสคันทาทา โดยได้รับบทเป็นนักแสดงประกอบในเรื่องแอนนา เด็กหญิงแสนซนที่ได้รับบทเรียนให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในวันคริสต์มาสเพราะไม่เห็นความสำคัญของคนในครอบครัว การแสดงครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพียงรอบเดียว แต่มีมากถึง 16 รอบการแสดงใน 5 เมือง

แม้ว่าการแสดงจะจัดขึ้นในช่วงเย็น แต่การเดินทางเพื่อเปลี่ยนสถานที่นั้นยากมาก เพราะการจราจรที่ติดขัด ถึงขั้นที่เรียกว่าสาหัสเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเขตเมือง คนที่นั่นต้องผจญกับปัญหารถติดทุกวัน แม้แต่นักเรียนยังต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 5 เพื่อเข้าเรียนให้ทันเวลา 7 โมงเช้า ปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากยานพาหนะบนท้องถนนที่มีมากเกินไป อีกส่วนมาจากสภาพภูมิอากาศของฟิลิปปินส์ที่มีฝนเกือบทั้งปี ทำให้แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซต์เองก็จำเป็นต้องมีหลังคา มอเตอร์ไซต์ที่นั่นจึงเป็นแบบพ่วงข้างและมีหลังคาแทบทุกคัน ยิ่งทำให้ใช้พื้นที่บนถนนมากขึ้นไปอีก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ทีมงานจึงเลือกเดินทางในช่วงเวลาตี 3 ที่ไม่มีคนสัญจร ทุกครั้งที่จบการแสดง ทุกคนก็ช่วยกันเก็บของ ตั้งแต่เสื้อผ้านักแสดงไปจนถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก จัดของขึ้นรถคันใหญ่ และพักผ่อนก่อนออกเดินทางออกเดินทาง การทัวร์ครั้งนี้ ใช้เวลานานถึง 1 เดือน กิจกรรมที่มากมายแต่ละวันทำให้นิวแทบลืมเรื่องอาการป่วยของตัวเองไปเลย แม้จะยังต้องกินยาทุกวันอยู่ก็ตาม

แอ็ปเปิ้ลแมน

                หลังจากนั้นนิวก็ได้เดินทางไปที่เมืองตากุม (Tagum city) เมืองทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เพื่อเตรียมจัดค่ายเยาวชนนานาชาติ นิวได้รับผิดชอบคลาสสอนภาษาไทยในค่าย เพราะมีคนไทยเพียงคนเดียว จึงต้องเตรียมบทเรียนเองทั้งหมด นอกจากนี้ในแต่ละวันต้องไปประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครผู้เข้าร่วมค่ายในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งจุดขายของการรับสมัครอย่างหนึ่ง คือ การแสดงพิเศษบนเวที เหล่าอาสาสมัครจึงงัดความสามารถออกมากันเต็มที่ ทั้งร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นวัฒนธรรม แต่นิวไม่ถนัดการแสดงเหล่านั้น จึงเลือกการแสดงเรียกเสียงหัวเราะอย่างการเต้นประกอบเพลงแอ็ปเปิ้ลเพ็น เพลงของศิลปินญี่ปุ่นที่กำลังโด่งดังในประเทศไทยในช่วงนั้น เป็นเพลงที่ออกท่าทางตลก ๆ ประกอบกับเนื้อร้องซ้ำ ๆ ที่พูดถึงแค่แอ็ปเปิ้ลกับปากกา เพราะเป็นการแสดงเพียงสั้น ๆ เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่าตัวเองเป็นคนไทย นิวจึงแต่งตัวโดยใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวเสียเลย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการแสดงที่มบูรณ์แบบ แต่เหล่านักเรียนนักศึกษากลับชอบใจจนเรียกนิวว่าแอ็ปเปิ้ลแมนตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกันจนถึงวันสุดท้ายที่จัดค่ายเลยทีเดียว

                หลังจากอยู่ที่ฟิลิปปินส์ได้ 5 เดือน อาการป่วยของนิวก็กลับมาทรุดลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้รุนแรงแทบไม่มีแรงเดิน เพราะรับประทานอาหารไม่ได้ สูญเสียเลือดไปกับการขับถ่ายจนโลหิตจาง จึงต้องกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยนานเกือบ 2 เดือน แต่นิวก็ยืนยันจะกลับไปที่นั่นอีกให้ได้  “เพราะตั้งใจแต่แรกแล้วว่าอยากจะอยู่ที่นั่นให้ครบ 1 ปี ตอนที่กลับมารักษาก็อยากให้อาการดีขึ้นไว ๆ รู้สึกว่าเวลาทุกวินาทีมีค่าจริง ๆ ช่วงที่ต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลก็เลยฝึกพูด ฝึกฟัง และเรียนภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา”

แม้ร่างกายจะป่วยแต่ใจต้องไม่ป่วย

                แล้วนิวก็กลับไปที่ฟิลิปปินส์อีกครั้ง  ครั้งนี้ต้องรับภารกิจหิน คือ การออกเดินทางแบบไม่ใช้เงิน ไปที่เมืองบาเกียว (Baguio city) ห่างจากเกซอนซิตีร่วม 200 กิโลเมตร เพื่อจัดห้องเรียนเรื่องโลกของจิตใจ (Mind Training) ให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนประถม การเรียนของนักเรียนประถมจะเรียนด้านวิชาการเพียงวันละ 6 ชั่วโมง เท่านั้น ทำให้เวลาที่เหลือนักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนเองสนใจได้ นอกจากต้องเป็นผู้สอนแล้ว นิวยังได้เป็นผู้เรียนด้วย เพราะระหว่างการเดินทางและการจัดกิจกรรมนี้ นิวต้องไปกับอาสาสมัครชาวฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้อีก รวม 3 คน ถึงแม้จะเป็นทีมเดียวกัน แต่กลับมีปัญหากันเสียเอง เป็นครั้งแรกที่นิวได้เห็นว่าตัวเองเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของตัวเองมากเกินไป จนไม่ได้สนใจหรือใส่ใจคนอื่น การเดินทางของพวกเขาค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีใครเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนท้องถิ่นเลย นิวไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนที่เป็นคนฟิลิปปินส์ไม่ยอมพูด น่าจะเข้าใจกันง่ายกว่าแท้ ๆ ในใจลึก ๆ จึงรู้สึกโกรธเพื่อนคนนี้อยู่ไม่น้อย จนวันหนึ่งที่นิวหิวมาก และจำเป็นต้องกินยาหลังอาหาร แต่พวกเขาไม่มีอะไรให้กินเลย นิวจึงตัดสินใจเดินเข้าไปขออาหารจากร้านอาหารแห่งหนึ่ง แม้จะไม่มั่นใจว่าเจ้าของร้านจะเข้าใจสิ่งที่นิวพูดไหม แต่เขากลับเข้าใจอย่างง่ายดาย พร้อมให้อาหารมาเยอะจนแทบกินไม่หมด นิวจึงรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้เพื่อนพูดก่อนก็ได้ เขาเองก็ต้องพยายามเข้าหาคนอื่นเหมือนกัน จากนั้นทั้ง 3 คนจึงได้พูดคุยกันและได้รู้ถึงปัญหาของแต่ละคน เมื่อเข้าใจกันแล้ว แม้จะมีอุปสรรคระหว่างการเดินทาง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาเลย

                 ตลอดระยะเวลาที่เป็นอาสาสมัคร นิวได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย และได้เดินทางไปทั่วประเทศ เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและลืมไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ “ผมรู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ ได้ทิ้งความคิดและการใช้ชีวิตแบบเดิม ผมเคยเป็นคนที่ชอบคิดและตัดสินใจเองคนเดียว ก็เลยเครียดง่ายมาก แต่ก็ไม่ได้ปรึกษาหรือบอกใคร คิดว่าเก็บเอาไว้ในใจคนเดียวดีกว่า แต่ชีวิตของอาสาสมัครไม่ใช่แบบนั้น ทุกวันจะมีคนเข้ามาคุยกับเรา และเราเองก็ต้องออกไปคุยกับคนอื่น ครั้งหนึ่งผมได้คุยกับเพื่อนที่ป่วยด้วยโรคไต เขาต้องไปโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบากมากกว่าผมด้วยซ้ำ แต่เขากลับเป็นคนให้กำลังใจผม บอกว่าผมต้องหายจากโรคนี้แน่ ๆ  การได้รับฟังคนอื่น และมีคนอื่นคอยรับฟัง เป็นยารักษาที่ดีที่สุดแล้วครับ ตอนนี้ผมยังต้องกินยาอยู่เหมือนเดิม อาการป่วยยังไม่หายขาด แต่ความกลัวในใจหายไปแล้ว เพราะผมไม่ต้องเก็บความกังวลไว้ในใจ และรู้ว่ามีคนรอบตัวที่คอยรับฟังอยู่เสมอ ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง การเดินทางครั้งนี้ เปลี่ยนชีวิตของผมไปเลยจริง ๆ”