จันทพร ศรีโพน หรือ “จอย” นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สาวแกร่งที่ท้าทายตัวเองด้วยการไปเป็นอาสาสมัครชาวไทยเพียงคนเดียวไกลถึงประเทศเบนิน ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เบนินเป็นประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ ไสยศาสตร์และศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 

การไปอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลา 1 ปีนั้นได้บทเรียนนอกห้องเรียนที่มีค่ามากมาย มีประสบการณ์สนุกๆหลายอย่างที่ไม่สามารถพบได้ที่ประเทศไทย รวมทั้งยังพบความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ต้องปรับตัว บทบาทของการไปเป็นอาสาสมัครคือ สอนภาษา ช่วยทำงานก่อสร้าง ใช้ชีวิตร่วมกับคนในท้องถิ่นและเผยแพร่วัฒนธรรม

วัฒนธรรมที่แตกต่างในแอฟริกา

ระหว่างที่อยู่ที่เบนิน จอยอาศัยอยู่กับครอบครัวอาสาสมัครชาวเกาหลีใต้ซึ่งมาอยู่ที่เบนินนานแล้วที่เมืองกอตอนู เมืองท่าที่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ เมืองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นทรายทั้งหมด เมื่อเกิดฝนตกน้ำจะท่วมบ่อยมากเนื่องจากไม่มีระบบระบายน้ำ ทำให้น้ำระบายลงทรายไม่ทัน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นห้องเช่าเหมือนในเมืองใหญ่ทั่วไป บ้านบางหลังมีลักษณะเหมือนเรือนแพ ซึ่งประชาชนก็มักจะขับถ่ายของเสียลงไปในทะเล

คนเบนินส่วนหนึ่งเชื่อถือในไสยศาสตร์อย่างมาก เพียงแค่ถุงสีดำปลิวอยู่บนถนนก็จะคิดว่าแม่มดเป็นผู้เสก บางทีก็จะมีคนนำเหรียญมาวางแล้วเอาใบไม้ปิดไว้เป็นกับดัก เชื่อกันว่า หากใครหยิบเงินนั้นไปก็จะถูกคำสาป แต่เด็กต่างชาติอย่างพวกจอย ไม่เชื่อในไสยศาสตร์ เมื่อเห็นเงินวางอยู่ก็เก็บกลับมาบ้านหมดและไม่เคยถูกคำสาปแม้จะไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ก็ตาม  

วัฒนธรรมที่นั่นเป็นแบบชนเผ่า ปัจจุบันแต่ละเมืองยังคงมีกษัตริย์เป็นของตนเอง แม้จะมีรัฐบาลกลางแล้วก็ตาม กษัตริย์ของแต่ละเผ่าจึงมีลักษณะเป็นผู้ควบคุมชุมชนหรือบางเมืองก็เป็นเหมือนมาเฟียเจ้าถิ่น เผ่าต่างๆมีเสื้อผ้าเป็นแบบฉบับของตนเอง มีภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน สิ่งที่ทำให้จอยตกใจคือ เนื่องจากสีผิวที่เป็นผิวดำทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกได้ว่า พวกใดเป็นพวกตน เด็กเกิดใหม่บางคนจะถูกกรีดหน้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า เขาเป็นคนของเผ่าใด บางคนถึงขั้นมีรอยกรีดถึง 12 รอย นอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเจาะหูเพื่อให้แยกออกว่า นี่เป็นผู้หญิง เนื่องจากชาย-หญิงในประเทศต่างก็ไม่มีผมหรือมีผมขึ้นน้อยด้วยกันทั้งนั้น

คนไทยไม่ค่อยรู้จักประเทศเบนินเท่าใดนัก แต่คนเบนินรู้จักคนไทยดี เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าไทยไปขายและพ่อค้าแม่ค้าเบนินมักเดินทางมาไทยเพื่อซื้อเสื้อผ้าจากย่านประตูน้ำไปขายต่อ คนเบนินรู้จักข้าวไทย ขนมของบริษัทไทย เช่น ฟันโอ เวเฟอร์โลซานและนมถั่วเหลืองแล็คตาซอย ส่วนใหญ่สินค้าที่เข้าไปขายจะเป็นประเภทเน้นปริมาณและราคาถูก ทำให้สินค้าจีนสามารถตีตลาดแอฟริกาได้ง่าย

ความน่ารักได้สัมผัส

คนเบนินเป็นคนใจดีและชอบชาวต่างชาติ เด็กที่นั่นส่วนมากจะแยกระหว่างคนเอเชียกับคนยุโรปซึ่งเป็นคนผิวขาวไม่ออก เขาจะเหมารวมไปเลยว่า คนเอเชียก็คือฝรั่ง หน้าที่ประจำของจอยทุกเช้าคือการนำขยะในบ้านไปเผาหน้าบ้าน เนื่องจากบริเวณที่อาศัยอยู่ไม่มีบริการรถเก็บขยะ ชาวบ้านจึงต้องจัดการกับขยะเอาเอง เด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงจะรู้เวลาว่า เวลาใดที่จอยจะออกมาเผาขยะ พวกเขาจะมาดักรอและหาของที่เขาพอจะใช้ได้ เอากลับไปที่บ้าน 

เมื่อเด็กเห็นจอยจะพากันร้องเพลง

“โยโว โยโว บองซัว ซวาเบียนเมกซี เอตัว”

เป็นภาษาถิ่นผสมฝรั่งเศสแปลว่า “คนผิวขาวๆ สวัสดี สบายดีมั้ย ฉันสบายดี ขอบคุณแล้วคุณล่ะ” เมื่อเดินไปที่ใดก็จะมีคนตะโกนเรียกชื่อตลอดเวลา เหมือนเป็นซุปตาร์ประจำถิ่น ตอนแรกก็ไม่ชินแต่เวลาผ่านไปก็เริ่มชิน มีคนคอยขอถ่ายรูปและเรียกว่า “เบบี้” ชอบจับผมคนเอเชียเพราะเส้นผมที่แตกต่างกัน 

คนในชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่ก็จะคิดว่า จอยเป็นคนจีนและคอยเอาใจใส่ตลอด เวลาจะไปที่ใดจอยจะโบกรถมอเตอร์ไซค์ที่ผ่านไปมาขออาศัยไปด้วย แต่พอจะบอกว่า ให้ไปส่งที่บ้าน เขาก็จะพูดกลับมาว่า ไม่ต้องพูดอะไร ฉันรู้เธอชื่อจอยและบ้านอยู่ตรงนี้ จอยถึงกับตกใจว่ารู้ได้ยังไงว่าบ้านอยู่ไหน แถมยังไปส่งให้อย่างถูกต้องอีกด้วย คนในชุมชนค่อนข้างสนใจคนเอเชีย รวมทั้งเรื่องของเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน เนื่องจากสังคมไม่ใช่สังคมก้มหน้า ไม่ค่อยมีคนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน  ดังนั้น ทุกคนจึงใส่ใจเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัวมากกว่าจดจ่ออยู่กับเทคโนโลยี

สิ่งที่คิดต่างกับสิ่งที่เจอ

หลายคนคงคิดว่าที่แอฟริกาอาจแห้งแล้วจนไม่สามารถเพาะปลูกได้แต่เมื่อไปเยือนเบนินจริงๆ ที่เบนินมีผลไม้หลายชนิดเพียงแต่อาจจะสู้ประเทศไทยไม่ได้ ชนิดแรกที่จอยมักรับประทานเป็นประจำคือ “ปะตั๊ด” หรือกล้วยแอฟริกา ปะตั๊ดจะมีขนาดใหญ่กว่ากล้วย เนื้อแข็ง ทำให้เวลารับประทานต้องนำไปทอดในลักษณะคล้ายกล้วยฉาบบ้านเรา ส่วนเมนูอาหารที่รับประทานบ่อยของชาวเบนินคือ สิ่งที่เรียกว่า “ลา ปัต” ส่วนประกอบหลักคือแป้งข้าวโพดปั้นเป็นก้อนรับประทานแทนข้าว กับข้าวก็ได้แก่ซอสที่ทำจากผักต่างๆหรือมะเขือเทศ กรรมวิธีการทำนั้นง่ายมากเพียงแค่ นั้นผักต่างๆมาขยี้เป็นชิ้นเล็กปนกับเนื้อสัตว์ที่ขยี้แล้วเช่นกัน ใส่กับพริกหยวก หัวหอมและก้อนปรุงรสต่างๆ สารอาหารที่ได้จากเมนูนี้ส่วนมากคือ คาร์โบไฮเดรต คนแอฟริกาจึงชอบมากเพราะได้พลังงาน นอกจากนี้ วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของของชาวเบนินอีกประการคือการใช้มือและใช้จานให้น้อยที่สุด เนื่องจากน้ำมีน้อยจึงต้องประหยัดจาน จะได้ไม่ต้องล้างหลายใบ 

ขนมที่จอยได้รับประทานบ่อยที่สุดคือขนมปัง แต่ลักษณะจะเป็นขนมปังที่เหมือนตอนเราไปวัดแล้วซื้อให้ปลากินมากกว่า คือทั้งแห้งและแข็ง ดังนั้น จึงมักรับประทานกับ “ลาบุย” หรือแป้งข้าวโพดที่นำมาต้มกับน้ำ ใส่เกลือและน้ำตาลแล้วแต่สูตรบ้านใครบ้านมัน ส่วนครอบครัวของเราบางครั้งจะซื้อข้าวมาจากประเทศข้างเคียง เช่น ไนจีเรียและโตโก ในตอนแรกก็ไม่ค่อยชินกับอาหารท้องถิ่นแอฟริกาเท่าไรนัก แต่เมื่ออยู่ไปเรื่อยๆก็เริ่มชินและรับประทานได้มากขึ้นจนถึงขั้นน้ำหนักขึ้นทีเดียว

“ความเก่ง” คือภาพลวงตา

เรื่องสนุกๆต่อไปที่ต้องปรับตัวมากคือ ห้องสุขา เนื่องจากจอยได้มีโอกาสเข้าไปนั่งเรียนกับเพื่อนๆชาวเบนินในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเมืองกอตอนู เมืองท่าสำคัญของประเทศ ในตอนแรกที่เดินเข้าห้องสุขาเพื่อทำธุระส่วนตัวนั้น ยังไม่รู้ว่าสุขาของมหาวิทยาลัยเป็นแบบใช้รวม จอยต้องตกใจวิ่งกรี๊ดออกมา เพราะเจอผู้ชายกำลังยืนทำธุระอยู่ในนั้น จึงกลับมาถามเพื่อนใหม่ว่า สุขาหญิงอยู่ที่ไหน เขาก็ชี้ไปที่เดิม จึงรวบรวมความกล้า เดินเข้าไปพิสูจน์อีกรอบ ก็เห็นทั้งชายและหญิงกำลังทำธุระอยู่ด้วยกัน ทั้งยังยืนคุยกันอย่างสบายใจอีกด้วย จึงเข้าใจในทันทีว่า สุขาเป็นแบบใช้ร่วมกัน 

แรกๆจอยจึงมีปัญหามากถึงขั้นเดินบุกขึ้นไปขอพบอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ต้องการชี้แจงสุขอนามัยที่ถูกต้องของสุขาให้ฟัง แต่ก็ได้พบแค่อาจารย์ท่านอื่นเท่านั้น จึงเล่าความในใจที่ต้องการพูดให้ฟัง แต่ท่านก็เพียงแค่รับฟังเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่า จะต้องปรับอะไร จากนั้นต่อมาจอยจึงเริ่มดื่มน้ำให้น้อยลงเพื่อจะได้ไม่เข้าสุขาของมหาวิทยาลัย คิดแต่ว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นให้ได้ 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ไปเรื่อยๆก็คิดได้ว่า คนที่นั่นก็ใช้ชีวิตเช่นนี้มานานแล้วและไม่เคยเดือดร้อน ยังคงมีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข แต่เป็นตัวเราเองต่างหากที่ไม่ยอมปรับตัว เมื่อเห็นเช่นนี้จึงคิดได้ว่า ..

เปลี่ยนคนอื่นยาก เปลี่ยนตนเองดีกว่า

ตั้งแต่นั้นต่อมาจอยก็ก้าวข้ามอุปสรรค ปรับตัวกล้าใช้ห้องสุขารวมของมหาวิทยาลัย ปะปนกันทั้งหญิงชาย และใช้ชีวิตแบบเป็นหนึ่งกับคนเบนินอย่างเข้าใจวัฒนธรรมไม่ว่าจะมาในรูปแบบแปลกประหลาดเพียงใดก็ตาม 

สิ่งที่ได้จากการไปอยู่ที่เบนิน 1 ปี คือการได้เรียนรู้ว่า ความคิดที่เคยคิดว่าตนเก่งหรือหัวดีอยู่บ้างจึงสามารถสอบเข้าเตรียมอุดมและเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ได้เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เพราะเพื่อนที่สังคมที่นั่นเรียกว่าเก่งส่วนมากผู้ชายจะเป็นผู้ที่มีฝีมือในการก่อสร้างหรือใช้แรงงาน ส่วนผู้หญิงที่เก่งจะเป็นผู้ที่สามารถทำอาหารได้อร่อย เย็บปักถักร้อยเก่งหรือทำความสะอาดได้เรียบร้อย ขณะที่จอยไม่มีสิ่งเหล่านั้นเลย เพราะตอนอยู่เมืองไทยก็สบายมาโดยตลอดเอาแต่เรียน มีแม่คอยดูแลทุกอย่าง เมื่อมาอยู่เบนินจึงได้เห็นว่า ตนเองเป็นคนที่จริงๆแล้วไม่มีค่าอะไรเลย ได้แต่ถ่อมตัวถ่อมใจเรียนรู้จากคนที่เราเคยดูถูกเขาว่ายากจนกเท่านั้น นอกจากนี้ ยังคิดถึงแม่มากอีกด้วย เพราะต้องคอยทหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กในชุมชน จึงรู้ซึ้งถึงความยากลำบากของการเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกว่าเหนื่อยขนาดไหน จอยจึงตัดสินใจเขียนจดหมายขอโทษแม่และเล่าความยากลำบากขณะอยู่ที่เบนินให้ฟัง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ส่ง โชคยังดีที่จดหมายติดกระเป๋ากลับมาที่ไทยด้วยจึงมีโอกาสอ่านให้แม่ฟังและทำหน้าที่เป็นลูกที่เข้าใจแม่มากขึ้นต่อไป

อ้างอิง สำนักพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ วัยรุ่นตะลุยโลก

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอาสาสมัคร 02-101-1367 หรือ 092-437-2201

หรือ inbox มาที่ https://www.facebook.com/iyfthailand/